โรคอีสุกอีใส (Chickenpox)
โรคอีสุกอีใส chickenpox รักษายังไง สาเหตุ อาการ การรักษา
โรคอีกสุกอีใส Chickenpox คืออะไร
โรคอีกสุกอีใส หรือไข้อีสุกอีใส คือโรคติดต่อและโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสที่ชื่อว่า วาริเซลลา ซอสเตอร์ ไวรัส (Varicella zoster virus หรือเรียกย่อๆว่า VZV) โรคนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีผื่นขึ้นตามตัว ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือเป็นตุ่มน้ำพองใสขนาดเล็ก มีอาการคัน และแตกแห้งตกสะเก็ดในเวลาต่อมา ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นร่วมด้วยได้ เช่น ไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ส่วนใหญ่จะมีอาการประมาณ 5-7 วัน
สาเหตุของโรคอีสุกอีใส
โรคอีสุกอีใสเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า วาริเซลลา ซอสเตอร์ ไวรัส (Varicella zoster virus) หรืออีกชื่อคือ Human herpes virus type 3 ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด โรคอีสุกอีใสถือเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง สามารถติดต่อกันได้หลายช่องทาง ดังนี้
การติดต่อของโรคอีสุกอีใส
โรคอีสุกอีใส เป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้อย่างรวดเร็ว และติดต่อได้หลายช่องทาง เช่น
- มีการสัมผัสกับการไอ จาม ของผู้ป่วย
- ผู้ดูแลผู้ป่วยสัมผัสกับตุ่มน้ำ หรือของเหลวภายในตุ่มน้ำนั้น
- มีการสัมผัสกับสิ่งของที่ผู้ป่วยใช้ เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า เป็นต้น
- มีการสัมผัสกับผิวหนังของผู้ป่วยโดยตรง
อาการของโรคอีสุกอีใส
อาการของโรคอีสุกอีใส ปกติจะมีอาการนำมาก่อนคือ มีอาการคล้ายไข้หวัด ไข้สูง ปวดหัว ไอ จาม และเจ็บคอ ซึ่งทำให้สับสนกับอาการไข้ที่เกิดจากไวรัสชนิดอื่นได้ หลังจากนั้น 1-2 วันจะมีผื่นปรากฏขึ้น และค่อยๆลามทั่วร่างกาย ผื่นจะมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำ และแตกออกในเวลา 2 วัน จากนั้นผื่นจะตกสะเก็ด และจะค่อยๆดีขึ้น อาการที่พบบ่อยของโรคอีสุกอีใส ได้แก่
- มีไข้ มีได้ทั้งแบบไข้สูงหรือไข้ต่ำๆ
- ปวดศีรษะ
- ปวดท้อง
- อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว
- เจ็บคอ
- ผื่นแดงคันบริเวณผิวหนัง
- ตุ่มน้ำใสขึ้นหลายตุ่มบริเวณผิวหนัง ซึ่งเป็นลักษณะรอยโรคของโรคอีสุกอีใส
การวินิจฉัยโรคอีสุกอีใส
โดยทั่วไปแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคอีสุกอีใสได้ จากการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยดูลักษณะของผื่นและตุ่มน้ำใสที่ผิวหนัง ยกเว้นในบางรายที่ผื่นหรืออาการมีลักษณะไม่ชัดเจน แพทย์อาจทำการเจาะถุงน้ำแล้วขูดเอาผิวหนังบริเวณนั้นไปย้อมส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการได้
โรคอีสุกอีใส chickenpox รักษายังไง
- ถ้ามีอาการไข้ ให้เช็ดตัว ทานยาลดไข้พาราเซตามอล แต่ไม่ควรทานยาแอสไพริน เพราะอาจเกิดการแพ้ยาได้
- ทายาแก้คัน หรือกินยาบรรเทาอาการคันได้
- ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน
- ตัดเล็บให้สั้นเพื่อป้องกันการเกา ซึ่จะทำให้แผลเกิดการติดเชื้อได้ง่าย
- ในเด็กทารก เด็กโต และผู้ใหญ่ แพทย์จะพิจารณาการให้ยาต้านไวรัสร่วมด้วย เนื่องจากคนไข้กลุ่มนี้มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้
- ในผู้ใหญ่ ถ้าเป็นอีสุกอีใสให้รีบไปพบแพทย์ เพราะมียากินทำให้ลดจำนวนตุ่มได้ ถ้าเรากินเร็วทันเวลาจะทำให้หายเร็ว และโอกาสเกิดแผลเป็นจะลดต่ำลง
- ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ให้รีบมาพบแพทย์ ได้แก่ แน่นหน้าอก หายใจเร็ว ไข้สูงไม่ลด ปวดศีรษะ ตุ่มเป็นหนอง เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
โรคอีสุกอีใส chickenpox รักษายังไง สาเหตุ อาการ การรักษา
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคอีสุกอีใส
โดยทั่วไปโรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่ไม่รุนแรง ถึงแม้จะติดต่อได้ง่ายและรวดเร็วก็ตาม การรักษาโรคนี้มักหายได้ภายใน 7 – 10 วัน โดยความรุนแรงของโรคจะขึ้นกับอายุและสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยเป็นหลัก ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ในโรคอีสุกอีใส ได้แก่
- ตุ่มพุพองเป็นหนองจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
- โรคปอดอักเสบ ปอดบวม
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
นอกจากนี้เมื่อโรคอีสุกอีใสหายแล้ว เชื้อบางส่วนจะยังไม่หมดไป แต่จะแฝงตัวอยู่ตามปมประสาทต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณลำตัว เมื่อแก่ตัวลงหรือมีภูมิคุ้มกันลดลง จะก่อให้เกิดเป็นโรคงูสวัดตามมาได้
วิธีป้องกันโรคอีสุกอีใส
วิธีป้องกันโรคอีสุกอีใสคือ การไม่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ซึ่งทำได้ค่อนข้างยากเพราะเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย นอกจากนั้นคือการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อให้ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโรค
ส่วนการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในปัจจุบันคือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ซึ่งป้องกันโรคได้ถึง 90-95% แต่ถ้าฉีดแล้วเป็นโรคซึ่งพบได้อีกประมาณ 2-10 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเป็นไม่นาน หายไว และอาการจะไม่รุนแรง โดยเริ่มฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป
อนึ่ง เมื่อเป็นโรคอีสุกอีใสแล้วมักมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคไปตลอดชีวิต และไม่ค่อยกลับมาเป็นโรคนี้อีก แต่มีโอกาสเกิดเป็นโรคงูสวัดในภายหลังได้
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคอีสุกอีใส
การดูแลตนเองและดูแลเด็กที่ป่วยด้วยโรคอีสุกอีใส สิ่งสำคัญที่สุดคือ แยกผู้ป่วยรวมทั้งของใช้ส่วนตัวต่างๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ ช้อน ชาม ออกจากคนในบ้าน นอกจากนี้การดูแลตัวเองในเรื่องอื่นๆ ได้แก่
- ตัดเล็บให้สั้นเพื่อป้องกันการเกาจนเกิดเป็นแผลซึ่งจะทำให้ติดเชื้อแทรกซ้อนได้
- ดื่มน้ำสะอาดให้ได้มากๆอย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว
- สามารถกินยาลดไข้พาราเซตามอลเมื่อมีไข้ได้ แต่ไม่ควรกินยาแอสไพริน
- ทานยาฆ่าเชื้อไวรัสตามที่แพทย์สั่งจนหมด และไปตรวจตามนัดเพื่อดูว่าโรคสงบแล้วหรือยัง
- ควรหยุดไปโรงเรียน หรือที่ทำงาน จนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อของโรค เพื่อป้องกันการติดต่อของโรคอีสุกอีใสไปสู่คนอื่น
โรคอีสุกอีใส chickenpox รักษายังไง สาเหตุ อาการ การรักษา
ผู้แต่ง : นพ.ชินดนัย วิกรัยพัฒน์ และ พญ.ปัทมา ปาประโคน พบ.วท.ม.ตจวิทยา (ผิวหนัง)
(หมอชิน-หมอหลิว) แพทย์ผิวหนัง ประจำแอลซีคลินิก
เอกสารอ้างอิง
- www.uptodate.com
- http://haamor.com/th/อีสุกอีใส
- https://www.pobpad.com/อีสุกอีใส
- https://th.wikipedia.org/wiki/อีสุกอีใส
ฝากติดตามบทความดีๆเรื่อง โรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ สิว ฝ้า กระ เลเซอร์ และการผ่าตัดเล็ก ได้ที่คอลัมน์บทความนะครับ
โรคอีสุกอีใส chickenpox รักษายังไง สาเหตุ อาการ การรักษา
◆ บทความที่เกี่ยวข้อง ◆
- โรคงูสวัด (Herpes Zoster)
- เริม โรคเริม (HERPES SIMPLEX)
- โรคตุ่มน้ำใสที่มือ ผิวหนังอักเสบ (Dyshidrosis) คืออะไร รักษายังไงดี
- โรคตุ่มพุพอง (Impetigo) แผลพุพอง คืออะไร อาการ และการรักษา
- ผื่นจากแมลงกัด ตุ่มแพ้แมลงกัด (Insect bite reaction)
- โรคตุ่มน้ำใส ถุงน้ำที่ผิวหนัง (Vesiculobullous) คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
- วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด คืออะไร ใครบ้างที่ควรฉีด
- ฉีด วัคซีน ป้องกัน ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ ไวรัสตับอักเสบบี หูดหงอนไก่-มะเร็งปากมดลูก งูสวัด
- บทความด้านโรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ
- บทความด้านความงาม สิว ฝ้า กระ เลเซอร์ โบท็อก ฟิลเลอร์ ร้อยไหม และการปรับรูปหน้า
- บทความผ่าตัดเล็ก กำจัดไฝ กระเนื้อ ติ่งเนื้อ ก้อนที่ผิวหนัง แผลเป็นนูน และวัคซีน
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
แอลซีคลินิกสาขาโคราช ตรงข้ามตลาดสวายเรียง จ.นครราชสีมา
โทร 044-263265 , 085-6566639 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic-korat
—
แอลซีคลินิกสาขาประโคนชัย ซอยบขส.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
โทร 044-163455 , 095-6026953 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic
—-
Facebook : LC Clinic
Website : www.lcclinics.com