โรคด่างขาว (Vitiligo)
โรคด่างขาว (Vitiligo) คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
โรคด่างขาว (Vitiligo) คืออะไร
โรคด่างขาว คือ โรคที่มีความผิดปกติของสีผิว เกิดจาการทำลายเซลล์เม็ดสีในผิวหนัง (Melanocyte) ทำให้ผิวหนังที่ปกติมีการเปลี่ยนแปลงเป็นผื่นสีขาวคล้ายน้ำนมเป็นดวงๆ มีขอบเขตชัดเจน สามารถพบได้ทุกส่วนของร่างกาย แต่โดยส่วนใหญ่จะพบที่บริเวณใบหน้า คอ มือ หรือตามรอยพับ บางครั้งอาจพบขนบริเวณที่เป็นรอยโรคมีสีขาวร่วมด้วย โรคด่างขาวพบได้ประมาณ 1-2% ของประชากร สามารถพบได้ในทุกเพศและทุกช่วงอายุ
สาเหตุของโรคด่างขาว
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุในการเกิดโรคด่างขาวที่แน่ชัด เชื่อว่าเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันมีความผิดปกติ ทำให้ไปทำลายเซลล์สร้างเม็ดสีผิว (Melanocyte) โดยอาจมีปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิด ได้แก่
- โรคแพ้ภูมิตัวเอง เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติ โดยไปทำลายเซลล์สร้างเม็ดสีในผิวหนัง (Melanocyte) ที่ทำหน้าที่ในการผลิตเม็ดสีผิว
- พันธุกรรม โรคด่างขาวมักเกิดในครอบครัวที่มีพันธุกรรมเป็นโรคด่างขาว หรือมีภาวะแพ้ภูมิตัวเองอื่นๆ
- ปัจจัยอื่นๆที่กระตุ้นให้เกิดโรค เช่น การสัมผัสกับสารเคมี, การถูกแสงแดด, และความเครียด
นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคด่างขาวมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองอื่นๆร่วมด้วยได้ เช่น โรคไทรอยด์ที่เกิดจากภาวะแพ้ภูมิตัวเอง มาทำลายต่อมไทรอยด์ ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด และมีความเกี่ยวข้องกับโรคด่างขาว ซึ่งถ้ามีความเกี่ยวข้องกัน อาการของการที่สีผิวผิดปกติจากโรคด่างขาว มักจะเกิดขึ้นก่อนที่จะป่วยจากโรคต่อมไทรอยด์
อาการของโรคด่างขาว
อาการของโรคด่างขาว มักจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากมีสีผิวที่จางลง จากนั้นจะค่อยๆจางลงจนเปลี่ยนเป็นสีขาว โดยไม่มีผื่นคันนำมาก่อน และผิวหนังในส่วนอื่นจะมีลักษณะเป็นปกติ รูปร่างของด่างขาวอาจกลม รี หรือเห็นเป็นเส้นยาวก็ได้ มีขนาดต่างกันตั้งแต่เล็กจนถึงใหญ่ อาจมีวงเดียวหรือหลายวงก็ได้ สามารถเกิดได้ทั้งตัว
บริเวณผิวหนังที่มักพบได้บ่อยว่าเกิดโรคด่างขาว ได้แก่
- ใบหน้าและลำคอ
- รอบปากและรอบดวงตา
- นิ้วมือและข้อมือ
- แขน-ขา
- ตำแหน่งที่มีการเคลื่อนไหวมาก เช่น ข้อพับ เข่า ข้อมือ หลังมือ
นอกจากที่ผิวหนังแล้ว ยังพบรอยโรคได้ตามเยื่อบุอวัยวะต่างๆ เช่น ในช่องปาก เหงือก อวัยวะเพศ หัวนม และตำแหน่งที่มีขน อาจทำให้ผมหรือขนบริเวณนั้นเป็นสีขาวร่วมด้วยได้
ชนิดของโรคด่างขาว
โรคด่างขาวมีการแบ่งชนิดด้วยกันหลายแบบ ที่ใช้บ่อยๆได้แก่ การแบ่งตามบริเวณของร่างกายที่เป็นด่างขาว และการแบ่งตามการดำเนินของโรคด่างขาว
การแบ่งชนิดของโรคด่างขาวตามบริเวณที่เป็น
1.Localized vitiligo (โรคด่างขาวที่พบเฉพาะที่)
เป็นโรคด่างขาวชนิดที่พบเฉพาะบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย แบ่งออกเป็น
- Focal vitiligo : พบด่างขาวเป็นจุดเล็กๆ เกิดอยู่บริเวณเดียว
- Segmental vitiligo : พบด่างขาวเป็นกลุ่ม เรียงตามทางเดินของเส้นประสาท และอยู่ข้างเดียวกันของร่างกาย เช่น ข้างซ้าย หรือ ข้างขวา มักพบด่างขาวชนิดนี้ในเด็ก
- Mucosal: พบรอยด่างขาวเฉพาะบริเวณเยื่อบุภายใน เช่น ด่างขาวในช่องปาก
2.Generalized vitiligo (โรคด่างขาวที่กระจายทั่วๆ)
เป็นโรคด่างขาวที่กระจายไปทั่วๆ แบ่งออกเป็น
- Acrofacial : พบด่างขาวที่มือ เท้า และรอบปาก ซึ่งบ่งบอกถึงการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี และไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษา
- Vulgaris : พบด่างขาวกระจายตามส่วนต่างๆของร่างกาย มีโอกาสขยายลามกว้างมากขึ้น รักษาค่อนข้างยาก
- Mixed : พบรอยโรคด่างขาวทั้งสองชนิดร่วมกัน
3.Universal vitiligo (โรคด่างขาวกระจายทั่วตัว)
พบด่างขาวกระจายทั่วตัว อาจพบสีผิวปกติได้แต่มีเพียงเล็กน้อย มักพบในผู้ใหญ่ และสัมพันธ์กับโรคทางต่อมไร้ท่ออื่นๆ เช่น โรคไทรอยด์ และโรคเบาหวาน
การแบ่งชนิดของโรคด่างขาวตามการดำเนินของโรค
1.Segmental vitiligo
ด่างขาวชนิดนี้มักเกิดในเด็ก และมีการลามอย่างรวดเร็ว พบเฉพาะบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย มักเป็นจุดหรือกลุ่มเล็กๆ บางครั้งโรคอาจสงบได้ ตอบสนองต่อการรักษาได้ดี และมักไม่สัมพันธ์กับโรคแพ้ภูมิตัวเองที่มีต่ออวัยวะอื่น
2.Nonsegmental vitiligo
เป็นด่างขาวประเภทที่พบได้มากที่สุด มักจะมีอาการเกิดขึ้นในบริเวณเดียวกันทั้ง 2 จุดของร่างกาย หรือพบได้หลายตำแหน่งตามร่างกาย เช่น มือ เท้า แขน ขา ใบหน้า รอบดวงตา ข้อเข่า และข้อศอก เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคด่างขาว
โดยส่วนใหญ๋แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้ ด้วยการซักประวัติอาการต่างๆ และทำการตรวจร่างกายบริเวณผิวหนังที่มีอาการ แต่ถ้ารอยโรคไม่ชัดเจน หรือแพทย์สงสัยโรคอื่นร่วมด้วย อาจจะมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การส่องตรวจด้วย Wood’s Lamp, การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ (Skin biopsy), และการตรวจเลือดดูการทำงานของต่อมไทรอยด์ เพราะโรคด่างขาวมีความเกี่ยวของกับโรคแพ้ภูมิตัวเอง
การรักษา โรคด่างขาว (Vitiligo)
ปัจจุบันการรักษาโรคด่างขาวมีด้วยกันหลายวิธี ขึ้นกับชนิด ปริมาณ และความรุนแรงของโรค โดยมีหลักการคือ ยับยั้งภาวะแพ้ภูมิตัวเองของระบบภูมิคุ้มกัน และกระตุ้นให้เซลล์สร้างเม็ดสีที่เหลืออยู่ สร้างเม็ดสีผิวกลับคืนมาได้
การรักษาในปัจจุบัน ได้แก่
1.การทายา
ยาที่ใช้ทา จะเน้นเป็นยาทาที่ช่วยลดการอักเสบ เช่น ยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์, ยาทาในกลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินดี, และยาทาในกลุ่มทาโครลิมัส และพิเมอร์โครลิมัส
2.การรับประทานยา
มีการใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน ในคนไข้โรคด่างขาวบางชนิด นอกจากนี้ยังมีการใช้ยาในกลุ่มต้านอนุมูลอิสระ มารับประทานเพื่อช่วยรักษาในโรคนี้ด้วย
3.การฉายแสงอาทิตย์เทียมยูวีบีชนิดคลื่นแคบ (์NB-UVB)
เป็นการรักษาหลักในโรคด่างขาววิธีหนึ่ง ช่วยลดการขยายวงกว้างของด่างขาว และกระตุ้นเซลล์เมลาโนไซต์ ให้ผลิตเซลล์เม็ดสีเมลานิน สีผิวจึงค่อยๆกลับคืนมา โดยจะฉายแสงอาทิตย์เทียมไปยังบริเวณรอยโรคที่เป็นด่างขาว
4.การรักษาด้วยเลเซอร์ (Excimer laser)
เป็นการรักษาด่างขาวด้วยเลเซอร์ โดยเลเซอร์จะไปช่วยให้เกิดการสร้างเม็ดสีผิวขึ้นมาใหม่ เลเซอร์ที่ใช้คือ เอ็กซ์ไซเมอร์ เลเซอร์ (Excimer laser) แต่วิธีการนี้จะเหมาะกับด่างขาวที่มีพื้นที่ขนาดเล็กเท่านั้น
5.การผ่าตัดปลูกถ่ายเม็ดสี (Skin Grafting)
เป็นการผ่าตัดผิวปกติมาแปะที่บริเวณด่างขาว เพื่อปลูกถ่ายเซลล์เม็ดสีผิว แต่การรักษาวิธีนี้จะต้องเป็นรอยโรคที่สงบ ไม่มีการลุกลามแล้วอย่างน้อย 2 ปี โดยหลีกเลี่ยงการปลูกถ่ายเม็ดสีผิวในบริเวณที่มีการเคลื่อนไหวตลอด เช่น ข้อพับ และรอบปาก
6.การใช้เครื่องสำอาง
เป็นการใช้เครื่องสำอางเพื่อช่วยปกปิดรอยโรคด่างขาว แนะนำให้ใช้ในตำแหน่งที่ตอบสนองไม่ดี หรือดื้อต่อการรักษา
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคด่างขาว
เนื่องจากโรคด่างขาวไม่สามารถป้องกันการเกิดได้ ผู้ป่วยจึงควรดูแลให้ผิวหนังที่เกิดอาการดูดีขึ้น หรือไม่ให้เกิดอาการที่แย่ลงไปกว่าเดิม โดยวิธีการดูแลตัวเองมีดังต่อไปนี้
- ใช้ครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน โดยใช้ครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันแสงแดด (SPF) อย่างน้อย 30 ขึ้นไป ควรใช้เป็นประจำและทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง หรือใช้บ่อยขึ้นหากต้องว่ายน้ำหรือมีเหงื่อออกมาก นอกจากนั้นอาจสวมใส่เสื้อผ้าที่ช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด เพราะการถูกแดดเผาอาจทำให้ผื่นแย่ลงได้
- การใช้เครื่องสำอาง คนไข้โรคด่างขาวสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยปกปิดผิว เช่น เครื่องสำอาง เพื่อช่วยให้บริเวณผิวที่ปรากฏด่างขาวดูดีขึ้น และช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกมั่นใจขึ้นได้
- ระวังไม่ให้เกิดแผล ควรระวังตัวไม่ให้เกิดบาดแผล หรือการกระแทก เพราะอาจทำให้ด่างขาวเกิดขึ้นใหม่ หรือลามมากขึ้น บริเวณผิวหนังที่เป็นแผลได้
โรคด่างขาว (Vitiligo) คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
ผู้แต่ง : นพ.ชินดนัย วิกรัยพัฒน์ และ พญ.ปัทมา ปาประโคน พบ.วท.ม.ตจวิทยา (ผิวหนัง)
(หมอชิน-หมอหลิว) แพทย์ผิวหนัง ประจำแอลซีคลินิก
เอกสารอ้างอิง
- www.uptodate.com
- ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติในเวชปฏิบัติปัจจุบัน (Dermatology 2020) ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิทย์ พิศาลบุตร
- http://haamor.com/th/โรคด่างขาว
- https://www.pobpad.com/โรคด่างขาว
- แผ่นพับให้ความรู้จากคลินิกฉายแสงอาทิตย์เทียม ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ฝากติดตามบทความดีๆเรื่อง โรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ สิว ฝ้า กระ เลเซอร์ และการผ่าตัดเล็ก ได้ที่คอลัมน์บทความนะครับ
◆ บทความที่เกี่ยวข้อง ◆
- การฉายแสงอาทิตย์เทียม (NB-UVB) รักษาโรคผิวหนัง
- โรคเกลื้อนน้ำนม คืออะไร อาการ การวินิจฉัย การรักษา และการดูแลตัวเอง
- โรคเกลื้อน (Pityriasis Versicolor) คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
- โรคกลาก เชื้อราที่ผิวหนัง อาการ สาเหตุ การวินิจฉัย และการรักษา
- โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) คืออะไร สาเหตุ อาการ และการรักษา
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ (Atopic Dermatitis)
- บทความด้านโรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ
- บทความด้านความงาม สิว ฝ้า กระ เลเซอร์ โบท็อก ฟิลเลอร์ ร้อยไหม และการปรับรูปหน้า
- บทความผ่าตัดเล็ก กำจัดไฝ กระเนื้อ ติ่งเนื้อ ก้อนที่ผิวหนัง แผลเป็นนูน และวัคซีน
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
แอลซีคลินิกสาขาโคราช ตรงข้ามตลาดสวายเรียง จ.นครราชสีมา
โทร 044-263265 , 085-6566639 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic-korat
—
แอลซีคลินิกสาขาประโคนชัย ซอยบขส.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
โทร 044-163455 , 095-6026953 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic
—-
Facebook : LC Clinic
Website : www.lcclinics.com