ผิวหนังแห้ง (Dry Skin / Xerosis)
ผิวแห้ง โรคผิวหนังแห้ง Xerosis คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
ผิวแห้ง โรคผิวหนังแห้ง คืออะไร
ผิวหนังแห้ง (Dry skin หรือ Xerosis) คือ ภาวะที่ผิวหนังขาดความชุ่มชื้น ซึ่งเกิดจากการที่น้ำมันมาหล่อเลี้ยงที่ผิวหนังไม่เพียงพอ จึงทำให้เห็นเป็นผิวที่มีลักษณะแห้ง แตก เป็นขุย และในบางครั้งอาจมีอาการคันร่วมด้วย
สาเหตุของผิวหนังแห้ง
ผิวหนังแห้ง สามารถเกิดได้จากปัจจัยทั้งภายใน และภายนอกร่างกาย โดยส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอก หรือสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีบางรายเกิดจากปัจจัยภายใน เช่น เป็นโรคบางชนิดที่ทำให้ผิวแห้ง หรือเป็นโรคผิวหนังแห้งแต่กำเนิด โดยสามารถแยกเป็นสาเหตุย่อยๆได้ดังนี้
1.ปัจจัยภายนอกที่ทำให้ผิวหนังแห้ง
1.1 สภาพอากาศ
ส่วนใหญ่ผิวหนังแห้งจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว หรือช่วงที่อากาศแห้ง เช่น เวลาที่อุณหภูมิ และความชื้นลดลงอย่างรวดเร็ว ผิวหนังของเราจะถูกดูดความชื้นไป ทำให้ผิวหนังแห้ง
1.2 การอาบน้ำร้อน หรือน้ำอุ่นจัด
การอาบน้ำร้อน หรือน้ำอุ่นจัด ส่งผลให้ผิวหนังเสียน้ำมันหล่อเลี้ยงผิว ทำให้ผิวขาดความชุ่มชื้น ผิวหนังแห้งตึง เพื่อป้องกันการเกิดผิวแห้งจึงควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนหรือน้ำอุ่นจัด แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ควรปรับน้ำให้มีอุณหภูมิเทียบเท่าอุณหภูมิห้อง หรือแค่น้ำไม่เย็นก็พอ
1.3 สบู่และผงซักฟอกที่รุนแรง
สบู่และผงซักฟอก ที่มีฤทธิ์เป็นกรดหรือด่างรุนแรง จะไปรบกวนทำให้เกิดการแพ้หรือระคายเคืองที่ผิวหนังได้ ทำให้ความชื้นในผิวหนังลดลง ส่งผลให้ผิวแห้งในที่สุด เพื่อลดโอกาสเกิดผิวหนังแห้ง จึงควรเลือกใช้สบู่สูตรอ่อนโยนเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่มีผิวแห้งโดยเฉพาะ หรือใช้เป็นสบู่เหลวของเด็ก
1.4 การขัดผิว
การขัดผิวสามารถช่วยขจัดสิ่งสกปรก หรือช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าที่เสื่อมสภาพให้หลุดออกไปได้ดี แต่หากขัดผิวบ่อยเกินไป อาจทำให้ผิวหนังเกิดการหลุดลอกของเซลล์ผิวมากเกินไป ทำให้ผิวแห้งและหยาบกร้านได้
1.5 สารเคมีหรือเครื่องสำอางบางชนิด
สารเคมีหรือเครื่องสำอางบางชนิดมีโอกาสทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้นได้ เนื่องจากครีมหรือเครื่องสำอางบางชนิดจะมีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดการแพ้หรือระคายเคืองผิวหนังได้ง่าย เช่น สารกันเสีย Preservatives, สาร Paraben, และน้ำหอม เป็นต้น
2.ปัจจัยภายในที่ทำให้ผิวหนังแห้ง
2.1 อายุที่มากขึ้น
อายุที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผิวหนังมีโอกาสที่จะแห้งกร้าน เหี่ยวย่น และเกิดริ้วรอยได้มากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
2.2 พันธุกรรม
ในคนที่มีพ่อหรือแม่ มีภาวะผิวแห้ง จะมีโอกาสเกิดอาการผิวแห้งได้มากกว่าคนปกติ หรือในบางรายก็ถึงขั้นมีอาการของโรคผิวหนังแห้งแต่กำเนิด (Icthyosis Vulgaris)
2.3 โรคผิวหนังบางชนิด
โรคผิวหนังที่มักก่อให้เกิดภาวะผิวแห้งที่พบบ่อย ได้แก่ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง, โรคสะเก็ดเงิน, และโรคผิวหนังอักเสบ
2.4 โรคประจำตัว
โรคประจำตัวบางชนิดก่อให้เกิดภาวะผิวแห้งได้ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากโรคเหล่านี้ เช่น โรคไทรอยด์, โรคเบาหวาน, โรคไตวาย, และโรคดีซ่าน เป็นต้น
อาการของผิวหนังแห้ง
อาการของผิวแห้งที่พบได้บ่อย ได้แก่
- รู้สึกตึงผิวมาก โดยเฉพาะช่วงหลังอาบน้ำ แช่น้ำ หรือว่ายน้ำ
- ลักษณะผิวดูหยาบกร้าน เห็นเป็นร่องลายของผิวหนังชัด
- มีอาการคันตามผิวหนัง
- ผิวหนังตกสะเก็ด ผิวลอกเป็นขุย
- ผิวหนังแห้งแตก และอาจมีเลือดซึม
ผิวแห้ง โรคผิวหนังแห้ง Xerosis คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
การวินิจฉัยโรคผิวหนังแห้ง
โดยทั่วไป แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการผิวแห้งได้จาก การซักประวัติ และการตรวจร่างกายโดยดูลักษณะของผิวหนัง แต่ในกรณีที่มีอาการผิวแห้งมากผิดปกติ หรือแพทย์สงสัยว่ามีสาเหตุอื่นร่วมด้วย เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง, โรคผื่นแพ้สัมผัส อาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่ม เติม เช่น การตรวจเลือด หรือการตรวจทดสอบการแพ้สารต่างๆของผิวหนัง ที่เรียกว่า Patch test เป็นต้น
อาการผิวแห้ง เมื่อไหร่จึงควรมาพบแพทย์
โดยส่วนใหญ่ ผู้ที่มีปัญหาผิวแห้ง จะสามารถดูแลตัวเองได้ แต่หากเกิดอาการต่อไปนี้ ควรต้องไปพบแพทย์ ได้แก่
- อาการผิวหนังแห้งที่ไม่ดีขึ้น แม้จะพยายามดูแลตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว
- ผิวแห้งที่มาพร้อมกับรอยแดงที่ผิวหนัง
- รู้สึกแห้งตึงผิว และมีอาการคันขณะที่นอนหลับ ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว
- ผิวหนังตกสะเก็ด หรือมีผิวหนังลอกเป็นบริเวณกว้าง
- มีอาการปวด หรือเกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังร่วมด้วย
ผิวแห้ง โรคผิวหนังแห้ง Xerosis คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
การรักษาโรคผิวหนังแห้ง
1. กลุ่มยาทาและครีมบำรุง
- ครีมบำรุงผิว (Moisturizer) ช่วยลดการอักเสบและปกป้องผิว ควรเลือกใช้เป็นชนิดที่ไม่ผสมน้ำหอม หรือสารที่ก่อการแพ้ เพื่อลดโอกาสแพ้สารเหล่านั้น โดยให้ทาหลังอาบน้ำเช้า-เย็น และระหว่างวัน เมื่อรู้สึกว่าผิวแห้ง
- น้ำมันบำรุงผิว (Oil) เช่น Mineral oil, น้ำมันมะพร้าวสะกัดเย็น ช่วยปกป้องผิว และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังได้
- ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ (Topical Steroid) ใช้ในกรณีที่ผิวแห้งมาก จนมีการอักเสบ ระคายเคือง หรือคันที่ผิวหนัง ควรใช้เป็นระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 2 สัปดาห์ ถ้าไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์
- ยาทาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (Topical Antibiotic) ใช้ในกรณีที่ผิวหนังมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ซึ่งอาจเกิดจากการเกาบริเวณผิวหนังที่แห้งคัน
2. กลุ่มยากินและอาหารเสริม
- ยาแก้แพ้ (Antihistamine) ใช้เพื่อลดอาการแพ้ และอาการคันที่ผิวหนัง
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ใช้ในกรณีที่มีการติดเชื้อ หรือสงสัยภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังร่วมด้วย
- โอเมก้า 3 ควรรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 สูง เพราะเป็นกรดไขมันจำเป็นที่ช่วยเสริมสร้างชั้นน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวตามธรรมชาติ โดยอาหารที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาซาดีน วอลนัท และน้ำมันดอกคำฝอย
การดูแลตัวเองสำหรับโรคผิวหนังแห้ง
การดูแลเพื่อป้องกันผิวแห้ง และการดูแลขณะผิวแห้ง มีดังนี้
- หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศแห้งและเย็นจัด
- ไม่อาบน้ำนาน และไม่แช่น้ำนาน
- ฟอกสบู่เฉพาะบริเวณที่จำเป็นเช่น รักแร้ ขาหนีบ ลำตัว
- เลือกใช้สบู่เหลวสำหรับผิวแพ้ง่าย ซึ่งอ่อนโยนต่อผิวหนัง
- ไม่อาบน้ำร้อนหรือน้ำอุ่นจัด
- ทาโลชั่นบำรุงผิวเป็นประจำทุกวัน
ผิวแห้ง โรคผิวหนังแห้ง Xerosis คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
ผู้แต่ง : นพ.ชินดนัย วิกรัยพัฒน์ และ พญ.ปัทมา ปาประโคน พบ.วท.ม.ตจวิทยา (ผิวหนัง)
(หมอชิน-หมอหลิว) แพทย์ด้านผิวหนัง ประจำแอลซีคลินิก
เอกสารอ้างอิง
- ปรียา กุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร. Dermatology 2020: พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพฯ: โฮลิสติก ,2555
- http://haamor.com/th/ผิวแห้ง
- https://www.pobpad.com/ผิวแห้ง-ดูแลได้ไม่ยาก
ฝากติดตามบทความดีๆเรื่อง โรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ ความงาม เลเซอร์ และการผ่าตัดเล็ก ได้ที่คอลัมน์บทความนะครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคผิวหนังที่พบบ่อยในเด็ก
- โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง Lichen Simplex Chronicus คืออะไร อาการ การรักษา
- โรคตุ่มน้ำใสที่มือ ผิวหนังอักเสบ (Dyshidrosis) คืออะไร รักษายังไงดี
- โรคสะเก็ดเงิน คืออะไร สาเหตุ อาการ และการดูแลตัวเอง
- รักษาสะเก็ดเงิน ทำยังไง ยากิน ยาทา ฉายแสงอาทิตย์เทียม
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ (Atopic Dermatitis)
- โรคตุ่มนูนคันเรื้อรัง (Prurigo nodularis) คืออะไร รักษายังไงดี
- โรคเซบเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) ผิวหนังอักเสบ ที่ร่องจมูก หู หนังศีรษะ
- โรคผื่นขุยกุหลาบ โรคกลีบกุหลาบ สาเหตุ อาการ และการรักษา
- ผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก (Paederus dermatitis) รักษายังไงดี
- รอยดำหลังการอักเสบ (PIH) เกิดจากอะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
- โรคกลาก เชื้อราที่ผิวหนัง อาการ สาเหตุ และการรักษา
- บทความด้านโรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ
- บทความด้านความงาม สิว ฝ้า กระ เลเซอร์ โบท็อก ฟิลเลอร์ ร้อยไหม และการปรับรูปหน้า
- บทความผ่าตัดเล็ก กำจัดไฝ กระเนื้อ ติ่งเนื้อ ก้อนที่ผิวหนัง แผลเป็นนูน และวัคซีน
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
แอลซีคลินิกสาขาโคราช ตรงข้ามตลาดสวายเรียง จ.นครราชสีมา
โทร 044-263265 , 085-6566639 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic-korat
—
แอลซีคลินิกสาขาประโคนชัย ซอยบขส.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
โทร 044-163455 , 095-6026953 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic
—-
Facebook : LC Clinic
Website : www.lcclinics.com