โรคตุ่มน้ำใสและถุงน้ำที่ผิวหนัง
โรคตุ่มน้ำใส ถุงน้ำที่ผิวหนัง Vesiculobullous คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
โรคตุ่มน้ำใส ถุงน้ำที่ผิวหนัง Vesiculobullous คืออะไร
โรคตุ่มน้ำใส หรือทางการแพทย์เรียกว่า Vesiculobullous disease เป็นรอยโรคที่มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำ หรือถุงน้ำ มีขนาดแตกต่างกันไป ลักษณะของถุงน้ำมีชื่อเรียกทางการแพทย์แตกต่างกันตามขนาดของรอยโรค เช่น Vesicle (เวสสิเคิล) ใช้เรียกลักษณะของตุ่มน้ำ ที่มีขนาดน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร, Bulla (บุลล่า) ใช้เรียกลักษณะของถุงน้ำ ที่มีขนาดมากกว่า 5 มิลลิเมตร ถ้าพบมีตุ่มน้ำหลายตุ่มหรือหลายถุง เรียกว่า Bullae (บุลเล่)
ลักษณะของตุ่มน้ำใสมีหลายชนิด ตามชนิดของโรค เป็นตุ่มน้ำ หรือ แตกออกเอง บางชนิดแตกออกแล้วเกิดเป็นแผลลงในผิวหนังชั้นลึกมีอาการเจ็บปวดได้ หรือบางชนิดเป็นตุ่มหนอง หรือแห้งเป็นแผ่นได้ ผู้ป่วยที่มีรอยโรคดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจแยกโรคก่อน และหากแพทย์สงสัยโรคกลุ่มของถุงน้ำ จำเป็นต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่อให้ทราบชนิดของโรค เนื่องจากแต่ละโรคมีการรักษาที่แตกต่างกัน และการพยากรณ์โรคที่ต่างกัน
โรคตุ่มน้ำใส แบ่งเป็นกี่ชนิด
โรคของตุ่มน้ำใส ถุงน้ำที่ผิวหนัง แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้ 2 กลุ่ม ดังนี้
1.โรคตุ่มน้ำใสชนิดเฉียบพลัน
โรคตุ่มน้ำใสชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีอาการของโรคถุงน้ำชนิดเฉียบพลัน อาจพบมีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นบางบริเวณ หรือพบทั้งร่างกายก็ได้เช่นกัน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ หรือการอักเสบของผิวหนัง ผู้ป่วยมักมีอาการผื่นรุนแรง และในบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ต้องรีบเข้ารับการตรวจวินิจฉัย และรักษาโดยแพทย์ โรคตุ่มน้ำใสชนิดเฉียบพลันที่พบได้บ่อย มีดังนี้
- กลุ่มโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคอีสุกอีใส, โรคเริม, และโรคงูสวัส เป็นต้น
- กลุ่มโรคที่เกิดจากการอักเสบของผิวหนัง เช่น โรคผื่นแพ้ที่ผิวหนัง, โรคผื่นแพ้สัมผัสชนิดเฉียบพลัน เป็นต้น
- กลุ่มโรคที่เกิดจากการแพ้ยา เช่น โรค Erythema multiforme, Stevens Johnson Syndrome, Toxic epidermal necrolysis เป็นต้น
2.โรคตุ่มน้ำใสชนิดเรื้อรัง
โรคตุ่มน้ำใสชนิดเรื้อรัง ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีอาการของโรคถุงน้ำเรื้อรัง มักมีอาการตุ่มน้ำใส หรือถุงน้ำ เป็นๆหายๆ มานาน อาจเกิดบางบริเวณ หรือ เกิดทั้งตัวก็ได้ รวมถึงบริเวณเนื้อเยื่อบุอ่อน เช่น ในปาก ริมฝีปาก หรืออวัยวะเพศ ร่วมด้วยได้ บางครั้งตุ่มน้ำอาจแตกออกและหายเองได้ จากนั้นก็มีตุ่มน้ำใหม่เกิดขึ้น อาจมีอาการรุนแรงกว่าเดิมได้เช่นกัน โรคในกลุ่มนี้มีความรุนแรงแตกต่างกัน ตามชนิดของโรคที่เป็น และจำเป็นต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่อให้ทราบชนิดของโรค เนื่องจากมีการรักษาที่แตกต่างกัน และการพยากรณ์โรคที่ต่างกัน โรคตุ่มน้ำใสชนิดเรื้อรัง ที่พบได้บ่อย มีดังนี้
- โรคเพมฟิกัส วอลการิส (Pemphigus Vulgaris)
- โรคเพมฟิกัส โฟลิเอเซียส (Pemphigus Foliaceous)
- โรคบุลลัส เพมฟิกอย (Bollous Pemphigoid)
การวินิจฉัยโรคตุ่มน้ำใส
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคตุ่มน้ำใสนี้ได้ จากการซักประวัติและตรวจร่างกายดูลักษณะผื่นตุ่มน้ำที่ผิวหนังของผู้ป่วย แต่การวินิจฉัยแยกโรคในกลุ่มนี้จะทำได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะเคสที่เป็นโรคตุ่มน้ำใสชนิดเรื้อรัง แพทย์อาจจะพิจารณาส่งตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ เช่น การส่งตรวจเลือด และการตัดชิ้นเนื้อผิวหนัง เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาร่วมด้วย
การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ
ในกรณีเป็นตุ่มน้ำใสชนิดเรื้อรัง ที่สงสัยเป็นกลุ่มโรคตุ่มน้ำพองใสจากภูมิคุ้มกัน โดยส่วนใหญ่จะใช้การตัดชิ้นเนื้อผิวหนังเพื่อส่งตรวจ โดยจะตัดทั้งหมด 2 ชิ้น ชิ้นแรกจะย้อมดูลักษณะความผิดปกติของผิวหนังและตำแหน่งที่มีการแยกของเซลล์ในชั้นผิวหนัง ส่วนชิ้นที่สองจะเป็นการตรวจพิเศษทางอิมมูนวิทยาที่เรียกว่า Direct Immunofluorescent เพื่อช่วยในการวินิจฉัยความผิดปกติของภูมิคุ้มกันชนิดต่างๆที่ทำให้เกิดโรคตุ่มน้ำพองใส
ส่วนการตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ จะเป็นการตรวจพิเศษทางอิมมูนวิทยาเช่นกันเรียกว่า Indirect Immunofluorescent โดยการนำซีรั่มของผู้ป่วยมาตรวจหาความผิดปกติของภูมิคุ้มกันชนิดต่างๆที่ทำให้เกิดโรคตุ่มน้ำพองใส
แนวทางการรักษาโรคในกลุ่มตุ่มน้ำใส ถุงน้ำที่ผิวหนัง
- การตรวจวินิจฉัยแยกโรคโดยแพทย์ หรือแพทย์ผิวหนัง
- หากเป็นกลุ่มโรคตุ่มน้ำใส ที่ต้องตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ แพทย์อาจจะพิจารณา ส่งตรวจเลือด หรือตัดชิ้นเนื้อผิวหนัง เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาร่วมด้วย
- การรักษาโดยยา จะมีการใช้ยาทั้งชนิดรับประทาน และยาทาในการรักษา ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามโรคที่ผู้ป่วยเป็น
การดูแลตัวเองในโรคตุ่มน้ำใสที่ผิวหนัง
การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการตุ่มน้ำใส หรือถุงน้ำขึ้นที่ผิวหนัง ได้แก่
- รีบไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง
- สังเกต และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นทั้งหลายที่ทำให้เกิดอาการมากขึ้น เช่น ความร้อน ความเครียด การสัมผัสสารระคายเคืองต่างๆ
- พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่ควรนอนดึก
- การให้ความชุ่มชื้นที่ผิวหนัง ด้วยการทา Moisturizer (โลชั่นให้ความชุ่มชื้นกับผิว) ที่ผิวหนังบ่อยๆ และใช้สบู่เหลวอาบน้ำที่มีฤทธิ์อ่อน ไม่ระคายเคืองผิว
- ไม่แนะนำให้เจาะหรือทำให้ตุ่มน้ำแตก เพราะจะเพิ่มโอกาสการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนมากขึ้น
- รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งจนหมดและไปพบแพทย์ตามนัด
โรคตุ่มน้ำใส ถุงน้ำที่ผิวหนัง Vesiculobullous คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
ผู้แต่ง : นพ.ชินดนัย วิกรัยพัฒน์ และ พญ.ปัทมา ปาประโคน พบ.วท.ม.ตจวิทยา (ผิวหนัง)
(หมอชิน-หมอหลิว) แพทย์ผิวหนัง ประจำแอลซีคลินิก
เอกสารอ้างอิง
- www.uptodate.com
- สถาบันโรคผิวหนัง
- https://www.dermnetnz.org/topics/blistering-skin-conditions
- https://www.pobpad.com/เกลื้อน
ขอขอบคุณรูปภาพจากแอลซีคลินิก
โรคตุ่มน้ำใส ถุงน้ำที่ผิวหนัง Vesiculobullous คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
ฝากติดตามบทความดีๆเรื่อง โรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ สิว ฝ้า กระ เลเซอร์ และการผ่าตัดเล็ก ได้ที่คอลัมน์บทความนะครับ
◆ บทความที่เกี่ยวข้อง ◆
- โรคตุ่มน้ำพองใสจากภูมิคุ้มกัน (Vesiculobullous disease)
- โรคตุ่มน้ำใสที่มือ ผิวหนังอักเสบ (Dyshidrosis) คืออะไร รักษายังไงดี
- เริมเรื้อรัง เป็นเริมบ่อยมาก (Recurrent Herpes Simplex) รักษายังไง
- รักษาโรคงูสวัดทำยังไง ยากิน ยาทา วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด
- โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) คืออะไร สาเหตุ อาการ และการรักษา
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ (Atopic Dermatitis)
- โรคงูสวัด (Herpes Zoster)
- เริม โรคเริม (HERPES SIMPLEX)
- โรคตุ่มพุพอง (Impetigo) แผลพุพอง คืออะไร อาการ และการรักษา
- บทความด้านโรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ
- บทความด้านความงาม สิว ฝ้า กระ เลเซอร์ โบท็อก ฟิลเลอร์ ร้อยไหม และการปรับรูปหน้า
- บทความผ่าตัดเล็ก กำจัดไฝ กระเนื้อ ติ่งเนื้อ ก้อนที่ผิวหนัง แผลเป็นนูน และวัคซีน
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
แอลซีคลินิกสาขาโคราช ตรงข้ามตลาดสวายเรียง จ.นครราชสีมา
โทร 044-263265 , 085-6566639 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic-korat
—
แอลซีคลินิกสาขาประโคนชัย ซอยบขส.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
โทร 044-163455 , 095-6026953 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic
—-
Facebook : LC Clinic
Website : www.lcclinics.com