โรคตุ่มน้ำพองใสจากภูมิคุ้มกัน
โรคตุ่มน้ำพองใสจากภูมิคุ้มกัน (Vesiculobullous disease) คืออะไร
โรคตุ่มน้ำพองใสจากภูมิคุ้มกัน (Vesiculobullous disease) คืออะไร
โรคตุ่มน้ำพองใส หรือทางการแพทย์เรียกว่า Vesicolullous disease เป็นรอยโรคที่มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำ หรือถุงน้ำ มีขนาดแตกต่างกันไป ลักษณะของถุงน้ำมีชื่อเรียกทางการแพทย์แตกต่างกันตามขนาดของรอยโรค เช่น Vesicle (เวสสิเคิล) ใช้เรียกลักษณะของถุงน้ำ ที่มีขนาดน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร, Bulla (บุลล่า) ใช้เรียกลักษณะของถุงน้ำที่มีขนาดมากกว่า 5 มิลลิเมตร ถ้าพบมีหลายตุ่ม เรียกว่า Bullae (บุลเล่)
โรคตุ่มน้ำพองใสจากภูมิคุ้มกันคือ โรคที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อผิวหนังและเยื่อบุของตนเอง ทำให้เกิดการแยกตัวของชั้นผิวหนัง ซึ่งมักเกิดขึ้นในชั้นหนังกำพร้า หรือบริเวณรอยต่อของหนังกำพร้ากับหนังแท้ ทำให้เกิดเป็นลักษณะตุ่มน้ำพองใสขึ้นที่ผิวหนัง หรือเยื่อบุผิวต่างๆ เช่น ในช่องปาก เป็นต้น โรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มนี้ ได้แก่ โรคเพมฟิกัส (Pemphigus) และโรคเพมฟิกอยด์ (Bullous pemphigoid)
สาเหตุของโรคตุ่มน้ำพองใสจากภูมิคุ้มกัน
โดยส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยมีสาเหตุมากระตุ้นได้แก่ แนวโน้มทางพันธุกรรม, สิ่งแวดล้อม เช่น เชื้อโรค และสารเคมี เป็นปัจจัยกระตุ้นที่มีบทบาทร่วมกันในการก่อโรค โรคตุ่มน้ำพองใสจากภูมิคุ้มกันไม่ใช่โรคติดต่อ
โรคตุ่มน้ำพองใสจากภูมิคุ้มกัน (Vesiculobullous disease) มีอาการยังไง
โรคในกลุ่มนี้มีด้วยกันหลายโรค บางชนิดพบบ่อยในวัยเด็ก บางชนิดพบบ่อยในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ สามารถพบได้ทั้งเพศหญิงและชาย อาการเด่นคือมีตุ่มน้ำพองใสขนาดต่างๆเกิดขึ้นบนผิวหนัง บางรายอาจเกิดตุ่มน้ำพองใสที่เยื่อบุผิวร่วมด้วยได้ เมื่อตุ่มน้ำแตกออกจะเกิดเป็นแผลหรือรอยถลอกของผิวหนัง ทำให้มีอาการคัน เจ็บ และแสบ ถ้าเกิดตุ่มน้ำพองใสขึ้นและเป็นแผลในปาก จะทำให้เจ็บแสบกลืนอาหารไม่สะดวก บางรายผิวหนังที่ถลอกหรือเป็นแผล อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียเป็นหนองร่วมด้วย ถ้าเป็นรุนแรงโรคในกลุ่มนี้มีโอกาสเสียชีวิตได้
กลุ่มโรคตุ่มน้ำพองใสจากภูมิคุ้มกัน มีโรคอะไรบ้าง
1.โรคเพมฟิกัส (Pemphigus)
โรคนี้เป็นโรคที่เกิดภูมิต้านทานต่อเซลล์ผิวหนังและเยื่อบุของตนเอง ทำให้เกิดการแยกตัวของเซลล์ (acantholysis) ในผิวหนังชั้นหนังกำพร้า และเยื่อบุ โรคนี้สามารถแบ่งโดยละเอียดได้เพิ่มอีกเป็น 4 ชนิดคือ
- โรค Pemphigus vulgaris (PV)
- โรค Pemphigus foliaceus (PF)
- โรค Paraneoplastic pemphigus
- โรค IgA Pemphigus
2.โรคเพมฟิกอยด์ (Bullous pemphigoid)
โรคนี้เป็นโรคภูมิต้านทานต่อตนเองที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเกิดตุ่มน้ำใสใต้ชั้นหนังกำพร้า (Subepidermal blister) โรคชนิดนี้จัดเป็นโรคที่มีความรุนแรงน้อยกว่าโรคในกลุ่มเพมฟิกัส
3.โรค Cicarticial pemphigoid
โรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่มีการแยกชั้นของผิวหนังใต้ชั้นหนังกำพร้า รอยโรคจะเด่นที่เยื้อบุ เช่น เยื่อบุในปาก อวัยวะเพศ และเยื่อบุนัยน์ตา เป็นต้น อาจมีรอยโรคที่ผิวหนังร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ และมักเกิดแผลเป็นในรอยโรคบางแห่งเสมอ
4.โรค Dermatitis herpetiformis
โรคนี้เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานอีกโรคหนึ่ง มีลักษณะผิวหนังเป็นตุ่มน้ำใสและตุ่มแดง มีอาการคันมากและเป็นเรื้อรัง พบได้บ่อยในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น และโรคนี้มีความสัมพันธ์กับความผิดปกติของลำไส้ต่อการแพ้กลูเต้น (Gluten-Sensitive Enteropathy) เมื่อได้อาหารที่มีกลูเต้นผื่นที่ผิวหนังจะกำเริบขึ้น แต่ความผิดปกติของลำไส้มักไม่แสดงอาการออกมา
5.โรคกลุ่ม IgA deposit
5.1 โรค Linear IgA dermatosis (LAD)
เป็นโรคตุ่มน้ำใสที่พบได้น้อย มักพบช่วงหลังวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ตอนต้น รอยโรคมีลักษณะตุ่มน้ำใสและตุ่มแดง อาจจะแยกได้ยากจากโรค Dermatitis herpestiformis แต่โรคนี้มักไม่พบความผิดปกติของลำไส้ต่อการแพ้กลูเต้น (Gluten-Sensitive Enteropathy)
5.2 โรค Chronic bullous disease of childhood
เป็นโรคตุ่มน้ำใสที่พบได้น้อยเช่นกัน มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มาด้วยอาการตุ่มน้ำใสขนาดใหญ่ โดยตุ่มน้ำใสมักอยู่บนฐานที่อักเสบเป็นรอยแดง รอยโรคมักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเรียกว่า กลุ่มของหยาดเพชร (Cluster of jewels) อาจมีอาการคันและปวดแสบปวดร้อนร่วมด้วยได้
กาวินิจฉัยกลุ่มโรคตุ่มน้ำพองใสจากภูมิคุ้มกัน
โรคในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มโรคที่ยากต่อการวินิจฉัยและรักษา ควรได้รับการดูแลรักษาโดยแพทย์ผิวหนัง ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เพื่อดูลักษณะของผื่นตุ่มน้ำพองใสและแผลที่เกิดจากตุ่มน้ำพองใสที่ผิวหนังและเยื่อบุ ร่วมกับการตรวจเลือดและตัดชิ้นเนื้อผิวหนัง ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม
การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ
โดยส่วนใหญ่จะใช้การตัดชิ้นเนื้อผิวหนังเพื่อส่งตรวจ โดยจะตัดทั้งหมด 2 ชิ้น ชิ้นแรกจะย้อมดูลักษณะความผิดปกติของผิวหนังและตำแหน่งที่มีการแยกของเซลล์ในชั้นผิวหนัง ส่วนชิ้นที่สองจะเป็นการตรวจพิเศษทางอิมมูนวิทยาที่เรียกว่า Direct Immunofluorescent เพื่อช่วยในการวินิจฉัยความผิดปกติของภูมิคุ้มกันชนิดต่างๆที่ทำให้เกิดโรคตุ่มน้ำพองใส
ส่วนการตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ จะเป็นการตรวจพิเศษทางอิมมูนวิทยาเช่นกันเรียกว่า Indirect Immunofluorescent โดยการนำซีรั่มของผู้ป่วยมาตรวจหาความผิดปกติของภูมิคุ้มกันชนิดต่างๆที่ทำให้เกิดโรคตุ่มน้ำพองใส
โรคตุ่มน้ำพองใสจากภูมิคุ้มกัน (Vesiculobullous disease) คืออะไร
แนวทางการรักษาโรคตุ่มน้ำพองใสจากภูมิคุ้มกัน
- การตรวจวินิจฉัยแยกโรคโดยแพทย์ หรือแพทย์ผิวหนัง
- หากเป็นกลุ่มโรคตุ่มน้ำใส ที่ต้องตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ แพทย์อาจจะพิจารณา ส่งตรวจเลือด หรือตัดชิ้นเนื้อผิวหนัง เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาร่วมด้วย
- การรักษาโดยยา จะมีการใช้ยาทั้งชนิดรับประทาน และยาทาในการรักษา ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามโรคที่ผู้ป่วยเป็น
การดูแลตัวเองในโรคตุ่มน้ำพองใสจากภูมิคุ้มกัน
การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการตุ่มน้ำพองใสจากภูมิคุ้มกัน ได้แก่
- รีบไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง
- สังเกต และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นทั้งหลายที่ทำให้เกิดอาการมากขึ้น เช่น ความร้อน ความเครียด การสัมผัสสารระคายเคืองต่างๆ อาการที่มีส่วนประกอบของกลูเต้น
- พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่ควรนอนดึก
- การให้ความชุ่มชื้นที่ผิวหนัง ด้วยการทา Moisturizer (โลชั่นให้ความชุ่มชื้นกับผิว) ที่ผิวหนังบ่อยๆ และใช้สบู่เหลวอาบน้ำที่มีฤทธิ์อ่อน ไม่ระคายเคืองผิว
- ไม่แนะนำให้เจาะหรือทำให้ตุ่มน้ำแตก เพราะจะเพิ่มโอกาสการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนมากขึ้น
- รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งจนหมดและไปพบแพทย์ตามนัด
โรคตุ่มน้ำพองใสจากภูมิคุ้มกัน (Vesiculobullous disease) คืออะไร
ผู้แต่ง : นพ.ชินดนัย วิกรัยพัฒน์ และ พญ.ปัทมา ปาประโคน พบ.วท.ม.ตจวิทยา (ผิวหนัง)
(หมอชิน-หมอหลิว) แพทย์ผิวหนัง ประจำแอลซีคลินิก
เอกสารอ้างอิง
- www.uptodate.com
- ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติในเวชปฏิบัติปัจจุบัน (Dermatology 2020) ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิทย์ พิศาลบุตร
- https://www.dermnetnz.org/topics/blistering-skin-conditions
ขอขอบคุณรูปภาพจากแอลซีคลินิก
ฝากติดตามบทความดีๆเรื่อง โรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ สิว ฝ้า กระ เลเซอร์ และการผ่าตัดเล็ก ได้ที่คอลัมน์บทความนะครับ
โรคตุ่มน้ำพองใสจากภูมิคุ้มกัน (Vesiculobullous disease) คืออะไร
◆ บทความที่เกี่ยวข้อง ◆
- โรคตุ่มน้ำใส ถุงน้ำที่ผิวหนัง (Vesiculobullous) คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
- โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) คืออะไร สาเหตุ อาการ และการรักษา
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ (Atopic Dermatitis)
- โรคงูสวัด (Herpes Zoster)
- เริม โรคเริม (HERPES SIMPLEX)
- โรคตุ่มพุพอง (Impetigo) แผลพุพอง คืออะไร อาการ และการรักษา
- บทความด้านโรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ
- บทความด้านความงาม สิว ฝ้า กระ เลเซอร์ โบท็อก ฟิลเลอร์ ร้อยไหม และการปรับรูปหน้า
- บทความผ่าตัดเล็ก กำจัดไฝ กระเนื้อ ติ่งเนื้อ ก้อนที่ผิวหนัง แผลเป็นนูน และวัคซีน
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
แอลซีคลินิกสาขาโคราช ตรงข้ามตลาดสวายเรียง จ.นครราชสีมา
โทร 044-263265 , 085-6566639 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic-korat
—
แอลซีคลินิกสาขาประโคนชัย ซอยบขส.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
โทร 044-163455 , 095-6026953 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic
—-
Facebook : LC Clinic
Website : www.lcclinics.com