โรคเกลื้อน (Pityriasis Versicolor)
โรคเกลื้อน Pityriasis Versicolor คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
โรคเกลื้อน Pityriasis Versicolor คืออะไร
โรคเกลื้อน คือการติดเชื้อราที่เกิดขึ้นบนผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) เท่านั้น ผู้ป่วยที่เป็นเกลื้อนนี้จึงมีผื่นที่ผิวหนัง โดยผื่นบนผิวหนังจะมีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะสีเป็นหลัก ผื่นมีลักษณะแบนราบ เส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 1 ซม. ซึ่งเป็นลักษณะที่บ่งบอกการติดเชื้อ รอยโรคนั้นมักจะไม่เจ็บ ไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ไม่ทำให้พิการ และไม่ได้ติดต่อกันโดยการสัมผัส ที่สำคัญโรคเกลื้อนมียารักษาให้หายได้
โรคเกลื้อนมักพบในสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นมากกว่าในสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น ทำให้โรคนี้มักพบบ่อยในช่วงฤดูร้อนมากกว่าในฤดูหนาว ผู้หญิงและผู้ชายพบได้เท่าๆกัน ส่วนใหญ่จะพบในวัยรุ่น ส่วนในเด็กเล็กและผู้สูงอายุจะพบได้น้อยกว่า
สาเหตุของโรคเกลื้อน
โรคเกลื้อนเกิดจากติดเชื้อราที่มีชื่อว่ามาลาสซีเซีย (Malassezia เดิมชื่อ Pityrosporum spp.) ที่อยู่บนผิวหนัง โดยปกติผิวของคนเราส่วนใหญ่จะมีเชื้อราชนิดนี้อยู่แล้ว แต่จะส่งผลให้ติดเชื้อก็ต่อเมื่อมีจำนวนเชื้อราชนิดนี้มากกว่าปกติ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เชื้อรานี้เพิ่มจำนวนขึ้นก็ยังไม่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่ามีปัจจัยที่เป็นตัวเร่งให้เกิดขึ้น ได้แก่
- อากาศร้อนและชื้น
- ผิวมัน
- เหงื่อออกมากเกินไป หรือทำกิจกรรมที่เหงื่อออกเยอะ
- ภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง
- ขาดสารอาหารบางชนิด
- พันธุกรรมบางชนิดที่ทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อ
ทั้งนี้การเกิดของโรคเกลื้อนไม่เกี่ยวกับการไม่รักษาสุขอนามัยแต่อย่างใด โดยสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่พบได้บ่อยในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น และมักจะไม่มีการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น เนืองจากคนส่วนใหญ่มักจะมียีสต์มาลาสซีเซียอยู่บนผิวหนังอยู่แล้ว แต่เชื้อนี้จะก่อให้เกิดโรคในบางคน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
โรคเกลื้อน Pityriasis Versicolor คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
อาการของโรคเกลื้อน
ลักษณะอาการของการติดเชื้อรามาลาสซีเซียที่ทำให้เกิดโรคเกลื้อนที่พบได้บ่อย มีดังนี้
- มีผื่นรูปวงกลม หรือวงรี ผิวแบนราบมีขอบเขตชัดเจน ผิวสัมผัสของผื่นจะไม่ค่อยเรียบ โดยมีลักษณะเป็นขุยละเอียด
- วงของผื่นจะมีได้ตั้งแต่สีขาว ชมพู แดง หรือน้ำตาล โดยจะมีสีเข้มหรืออ่อนกว่าผิวหนังปกติบริเวณรอบ
- ผื่นอาจขึ้นเป็นวงเดียวหรือหลายวงก็ได้
- สามารถเกิดขึ้นได้บนร่างกายทุกส่วน แต่มักพบบริเวณลำตัว คอ ต้นแขน และหลัง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่มาก
- วงเกลื้อนที่พบ อาจจางลงหรือหายไปเมื่อสภาพอากาศเย็น และอาการอาจแย่ลงหากอากาศร้อนชื้นขึ้น
- อาจมีอาการผิวแห้ง หรือคันร่วมด้วยได้
- ในบางรายที่เป็นเกลื้อน ผิวหนังอาจไม่ได้แสดงการเปลี่ยนแปลงลักษณะหรือสีอย่างเห็นได้ชัดก็ได้
การวินิจฉัยโรคเกลื้อน
โรคเกลื้อนสามารถวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจดูลักษณะของผื่นที่ผิวหนังด้วยตาเปล่า โดยการสังเกตลักษณะของวงเกลื้อน ซึ่งมีผื่นเป็นรูปวงกลมหรือวงรี ผิวแบนราบมีขอบเขตชัดเจน และผิวหนังมีการเปลี่ยนสี เช่น ผิวหนังดูขาวหรือจางขึ้นกว่าผิวปกติ
ในกรณีที่ผื่นมีลักษณะไม่ชัดเจน แพทย์จะทำการขูดเอาตัวอย่างผิวหนังไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยการขูดเอาผิวหนังตรงบริเวณผื่นนำมาวางบนสไลด์ แล้วหยดน้ำยาโปแตสเซียมไฮดรอกไซด์ (KOH) จากนั้นนำไปส่องดูเชื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์ ก็จะพบเชื้อราที่มีรูปร่างแบบเส้น (Hyphae) ปนกับรูปร่างกลมๆ (Yeast) ซึ่งลักษณะเฉพาะนี้เรียกว่า สปาเกตตี้กับมีทบอล ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคเกลื้อน
การรักษาโรคเกลื้อน
การรักษาโรคเกลื้อนมีด้วยกันหลายวิธี มีทั้งยากิน ยาทา และยาฟอกที่ผิวหนัง โดยยาที่ใช้ในปัจจุบันมีด้วยกันดังนี้
1.กลุ่มยากินรักษาโรคเกลื้อน
ยากินรักษาโรคเกลื้อน จะใช้เป็นยากินกลุ่มยาต้านเชื้อราหรือยารักษาเชื้อราที่ผิวหนัง เหมาะสำหรับคนไข้ที่มีการติดเชื้อราเกลื้อนที่ผิวหนังเป็นบริเวณกว้าง หรือใช้ในคนไข้ที่ใช้ยาทาและยาฟอกแล้วยังไม่ได้ผล โดยปกติต้องทานติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป
2.กลุ่มยาทารักษาโรคเกลื้อน
ยาทารักษาโรคเกลื้อน จะใช้เป็นยาทารักษาเชื้อรา เหมาะสำหรับคนไข้ที่มีการติดเชื้อราที่ผิวหนังไม่มาก ผื่นที่ผิวหนังไม่เยอะ แต่จะใช้เวลารักษานานกว่ายากิน โดยส่วนใหญ่ต้องใช้ยาทาทุกวันติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป
3.กลุ่มยาฟอกหรือแชมพูรักษาโรคเกลื้อน
ยาฟอกรักษาโรคเกลื้อน จะใช้เป็นยากลุ่มแชมพูหรือสบู่ที่มีส่วนผสมของยารักษาเชื้อรา ใช้ฟอกผิวหนังที่เป็นผื่นตอนอาบน้ำ เหมาะสำหรับคนไข้ที่มีผื่นเป็นบริเวณกว้าง การใช้ยาจะทายาฟอกบนผิวหนังที่ติดเชื้อราทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที แล้วค่อยล้างออก และควรทาซ้ำนาน 5-7 วัน ข้อควรระวังในการใช้ยากลุ่มนี้คือยาสามารถทำให้เกิดการระคายเคืองหรือแสบร้อนผิวหนังได้ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรใช้ติดต่อกันทุกวันนานเกินไป
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเกลื้อน
โดยทั่วไปโรคเกลื้อนจะไม่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษา ผื่นจะค่อยๆดีขึ้นและจางหายไป ผิวหนังจะกลับมามีสีปกติเหมือนเดิม และไม่มีรอยแผลเป็นเกิดขึ้น ในผู้ป่วยบางรายเมื่อหายแล้ว จะกลับเป็นซ้ำอีกได้เรื่อยๆ ในผู้ที่เป็นซ้ำบ่อยๆ อาจต้องใช้ยาทาหรือยาฟอกเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรคเกลื้อน
การดูแลตัวเองสำหรับโรคเกลื้อน
โรคเกลื้อนมีโอกาสกลับเป็นซ้ำอีกครั้งได้ง่าย แม้ว่าจะรักษาจนหายไปแล้ว โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนหรือเมื่อมีอากาศร้อนชื้นที่ทำให้เหงื่ออกเยอะ การดูแลตัวเองและป้องกันสำหรับคนไข้โรคเกลื้อน มีดังนี้
- ในผู้ที่เคยเป็นโรคเกลื้อนแล้ว เมื่อกลับเป็นซ้ำอีก มักจะรู้ตัวเองได้อย่างรวดเร็ว แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์และทำการรักษาโดยเร็ว เพื่อไม่ให้โรคเป็นมากขึ้น
- ในกรณีผู้ที่เป็นซ้ำบ่อยๆ อาจจำเป็นต้องใช้ยาสำหรับป้องกันสม่ำเสมอ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
- ในกรณีที่เป็นโรคเกลื้อนในเด็กเล็ก ผู้ปกครองไม่ควรรักษาเอง เพราะการเลือกชนิดยา และปริมาณยาจะแตกต่างกับในผู้ใหญ่ และในเด็กเล็กมักมีผลข้างเคียงจากยาสูงกว่าในผู้ใหญ่เมื่อใช้ขนาดยาไม่ถูกต้อง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
- ควรรักษาความสะอาดของร่างกายไม่ให้เหงื่อไคลหมักหมม โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่มีเหงื่อออกมาก ถ้าเหงื่อออกมาก แนะนำให้อาบน้ำบ่อยได้ และเช็ดตัวให้แห้งเสมอ
- เลือกสวมเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนและความชื้น เช่น เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้าย
- เลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทาผิวที่เป็นน้ำมันหรือมีส่วนผสมของน้ำมัน
โรคเกลื้อน Pityriasis Versicolor คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
ผู้แต่ง : นพ.ชินดนัย วิกรัยพัฒน์ และ พญ.ปัทมา ปาประโคน พบ.วท.ม.ตจวิทยา (ผิวหนัง)
(หมอชิน-หมอหลิว) แพทย์ผิวหนัง ประจำแอลซีคลินิก
เอกสารอ้างอิง
- www.uptodate.com
- https://www.siamhealth.net
- http://haamor.com/th/เกลื้อน
- https://www.pobpad.com/เกลื้อน
ขอขอบคุณรูปภาพจาก
ฝากติดตามบทความดีๆเรื่อง โรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ สิว ฝ้า กระ เลเซอร์ และการผ่าตัดเล็ก ได้ที่คอลัมน์บทความนะครับ
◆ บทความที่เกี่ยวข้อง ◆
- โรคกลาก เชื้อราที่ผิวหนัง อาการ สาเหตุ การวินิจฉัย และการรักษา
- โรคกลาก เชื้อราบนหนังศีรษะ (Tinea Capitis) สาเหตุ อาการ และการรักษา
- เชื้อราที่ผิวหนัง คืออะไร รักษายังไง ยากิน ยาทา วิธีป้องกัน
- โรคเกลื้อนน้ำนม คืออะไร อาการ การวินิจฉัย การรักษา และการดูแลตัวเอง
- โรคผิวหนังเด็ก โรคผิวหนังที่พบบ่อยในเด็ก
- โรคผิวหนังเด็กในหน้าฝน ที่พบบ่อย ผื่นแดง คัน ผิวหนังอักเสบ ตุ่มพุพอง ติดเชื้อ กลาก เกลื้อน
- โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
- โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง Lichen Simplex Chronicus คืออะไร อาการ การรักษา
- บทความด้านโรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ
- บทความด้านความงาม สิว ฝ้า กระ เลเซอร์ โบท็อก ฟิลเลอร์ ร้อยไหม และการปรับรูปหน้า
- บทความผ่าตัดเล็ก กำจัดไฝ กระเนื้อ ติ่งเนื้อ ก้อนที่ผิวหนัง แผลเป็นนูน และวัคซีน
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
แอลซีคลินิกสาขาโคราช ตรงข้ามตลาดสวายเรียง จ.นครราชสีมา
โทร 044-263265 , 085-6566639 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic-korat
—
แอลซีคลินิกสาขาประโคนชัย ซอยบขส.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
โทร 044-163455 , 095-6026953 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic
—-
Facebook : LC Clinic
Website : www.lcclinics.com