โรคลมพิษ Urticaria
โรคลมพิษ Urticaria คืออะไร สาเหตุ อาการ การวินิจฉัย การรักษา ป้องกัน
โรคลมพิษ Urticaria คืออะไร
โรคลมพิษ คือ โรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยๆ เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ โดยจะปรากฏเป็นผื่นบวมนูนสีขาวล้อมด้วยสีแดง โดยผื่นที่ปรากฏนั้นจะมีขนาด และรูปร่างแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดปฏิกิริยา ส่วนขนาดของผื่นมีตั้งแต่เล็กมาก ไปถึงขนาดใหญ่ เกิดผื่นจุดเล็กๆ มารวมกันจนทำให้เกิดเป็นดวงใหญ่ขึ้น ผู้ป่วยมักมีอาการคันมาก หรืออาจรู้สึกแสบในบริเวณที่เป็นผื่น นอกจากนี้ผื่นลมพิษสามารถเกิดขึ้นได้บนทุกส่วนในร่างกาย แม้กระทั่งใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น คอ หรือหู โดยส่วนใหญ่แล้วมักยุบหายเองภายในเวลา 24 ชั่วโมง ผื่นจะค่อยๆจางหายไป
โรคลมพิษ Urticaria คืออะไร สาเหตุ อาการ การวินิจฉัย การรักษา
ชนิดของโรคลมพิษ
โรคลมพิษแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่
- โรคลมพิษชนิดเฉียบพลัน (Acute Urticaria) โรคลมพิษชนิดนี้เกิดขึ้นมาและหายไปได้เองอย่างรวดเร็ว โดยส่วนใหญ่อาการจะหายไปเองภายในเวลา 48 ชั่วโมง หรือในรายที่เป็นนานๆ ก็มักจะเป็นติดต่อกันไม่เกิน 6 สัปดาห์
- โรคลมพิษชนิดเรื้อรัง (Chronic Urticaria) อาการของโรคลมพิษชนิดนี้ จะเป็นๆหายๆ โดยมีระยะที่เป็นผื่นต่อเนื่องกันเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป โดยส่วนใหญ่ลมพิษชนิดเรื้อรังจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาการของลมพิษจะทำให้เกิดความรำคาญหรือความไม่สบายตัวมาก ๆ ซึ่งส่งผลต่อการดำรงชีวิต หรือการนอนหลับของผู้เป็นลมพิษได้
อาการของโรคลมพิษ
อาการมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน เป็นผื่นลักษณะนูนแดง จะมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันไป อาจเกิดขึ้นได้ที่บริเวณใบหน้า แขน ขา ลำตัว รวมไปถึงส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ผู้ป่วยจะรู้สึกคันมากและหากเกาก็จะเกิดผื่นแดงลามมากยิ่งขึ้นไปอีก
สาเหตุของโรคลมพิษ
โดยสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการลมพิษที่พบบ่อย ได้แก่
- สาเหตุทางกายภาพ (physical) ได้แก่ ความเย็น ความร้อน แสงแดด การสั่นสะเทือน การกดทับ การขูดขีดที่ผิวหนัง
- การออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง การเล่นเทนนิส
- การสัมผัสสารบางอย่าง เช่น ยาง เนื้อดิบ ปลา พืชผักบางชนิด
- การสัมผัส หรือ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- การที่อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น เช่น จากการออกกำลังกาย
- การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น อาหารทะเล หรือ อาหารหมักดอง
- การได้รับยาบางชนิด เช่น ยาลดไข้แอสไพริน หรือ ยาปฏิชีวนะบางชนิด
- การป่วยเป็นโรคบางชนิด เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ (โรคไทรอยด์) โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคพยาธิ หรือโรคติดเชื้อบางชนิด
- และสุดท้ายที่พบได้บ่อย คือหาสาเหตุไม่พบ
การวินิจฉัยโรคลมพิษ
แพทย์จะใช้วิธีซักประวัติอาการโดยละเอียด เช่น การแพ้สิ่งต่างๆ โรคประจำตัว ยาที่ทานประจำ และทำการตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุ และปัจจัยที่กระตุ้นการเกิดลมพิษ ในบางรายอาจมีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจหรือทดสอบทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด และการตรวจหาภาวะการแพ้ต่างๆ
การรักษาโรคลมพิษ
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้หรือสงสัยว่าจะแพ้
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะมีผลกับภาวะภูมิคุ้มกัน เช่น ภาวะเครียด นอนดึก และการดื่มสุรา
- ผู้ที่เป็นลมพิษเรื้อรังให้หลีกเลี่ยงการรับประทานยา aspirin ยาลดความดันกลุ่ม ACEi
การรักษาด้วยยาในผู้ป่วยลมพิษ
- เริ่มต้นด้วยการใช้ยาในกลุ่ม H1-antihistamines
- หากให้ยาในกลุ่มแรกไม่ได้ผล พิจารณาให้เป็นยากลุ่ม H2-antihistamine, Tricyclic antidepressant
- หากยังไม่ได้ผล อาจจะพิจารณาให้ยาในกลุ่มอื่นๆเพิ่มเติม เช่น ยากลุ่ม steroid, ยากลุ่ม Montelukast
- การใช้ยาฉีดแก้แพ้ในผู้ป่วยลมพิษเฉียบพลัน เช่น chlorpheniramine, diphenhydramine เป็นต้น
- ในรายที่เป็นชนิดเฉียบพลันและรุนแรง อาจพิจารณาให้การฉีดยากลุ่ม steroid
- และสุดท้ายในผู้ป่วยที่เป็นรุนแรงมาก และมีภาวะ Angioedema ร่วมด้วย ควรพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะอาจต้องมีการให้ยา epinephrine 1:1000
โรคลมพิษ Urticaria คืออะไร สาเหตุ อาการ การวินิจฉัย การรักษา ป้องกัน
คำถามเกี่ยวกับโรคลมพิษ
1.ความเครียดทำให้เป็นลมพิษได้ไหม?
จากการศึกษางานวิจัยหลายชิ้น พบว่าความเครียดทำให้มีการหลั่งของสารเคมีบางชนิด และสารเคมีนั้นๆจะไปกระตุ้นเซลล์ชนิดหนึ่งในร่างกายที่อยู่ในเนื้อเยื่อผิวหนัง และในเนื้อเยื่ออื่นๆ ซึ่งเรียกว่าเซลล์มาสต์ (Mast cell) ทำให้เซลล์นี้แตกตัว หลั่งสารฮิสตามีน (Histamine) ออกมา ซึ่งสารฮิสตามีนเป็นสารสำคัญที่ทำให้เกิดผื่นโรคลมพิษ
2.เป็นโรคลมพิษต้องงดอาหารอะไรไหม?
จากงานวิจัยพบว่าผู้ป่วยลมพิษประมาณ 30% มีอาการดีขึ้นได้ เมื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีวัตถุดิบเจือปนประเภทที่แต่งสี กลิ่น รส นอกจากนั้น ควรหลีกเลี่ยงสุรา และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
3.โรคลมพิษรักษาหายขาดไหม?
จากงานวิจัยพบว่าผู้ป่วยโรคลมพิษจำนวนมาก มักเป็นลมพิษเป็นๆหายๆต่อเนื่องได้นานถึง 1-5 ปี บางการศึกษารายงานว่าผู้ป่วยประมาณ 50% หายจากลมพิษหลังจาก 3 เดือน และ 80% หายหลังจาก 1 ปี อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยประมาณ 11% หายหลังเป็นลมพิษนานถึง 5 ปี ส่วนโรคลมพิษที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคทางภูมิคุ้มกัน มักจะเป็นต่อเนื่องนานกว่าโรคลมพิษเรื้อรังที่ไม่ทราบสาเหตุ
4.โรคลมพิษ เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
โรคลมพิษควรไปพบแพทย์เมื่อ
- มีอาการผื่นลมพิษรุนแรง หรือคันมาก อาการไม่หาย หรือไม่ดีขึ้น เมื่อดูแลตนเองในเบื้องต้นดังกล่าวแล้ว
- มีอาการบวมตามเนื้อตัวมาก หรือมีอาการปวดตามผื่นลมพิษ
- มีผื่นลมพิษขึ้น นานกว่า 1-2 วัน
- มีอาการไข้ร่วมด้วยกับผื่นลมพิษ
- เมื่อไม่มั่นใจในการวินิจฉัย หรือการรักษาโรค
ควรรีบไปพบแพทย์ฉุกเฉินเมื่อ
- มีผื่นร่วมกับอาการบวมบริเวณลำคอจนหายใจติดขัด
- รู้สึกหน้ามืด เป็นลม หมดสติ
5.โรคลมพิษป้องกันได้อย่างไร
วิธีการป้องกันลมพิษ หลักสำคัญ คือ
- หลีกเลี่ยงสารต่างๆที่แพ้ โดยเฉพาะสารที่รู้ หรือสงสัยว่าเป็นสาเหตุของลมพิษ
- สังเกตตนเองเสมอในเรื่องต่างๆ เพื่อหาสิ่ง หรือสารที่อาจกระตุ้นให้เกิดลมพิษ
- ระมัดระวังการกินยาต่างๆ เช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิด เพราะอาจเป็นสาเหตุของลมพิษได้
- ควรแจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และเจ้าหน้าที่แผนกเอกซเรย์ (การตรวจทางเอกซเรย์บางชนิด อาจมีการฉีดสี ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดลมพิษได้)
โรคลมพิษ Urticaria คืออะไร สาเหตุ อาการ การวินิจฉัย การรักษา ป้องกัน
ผู้แต่ง : นพ.ชินดนัย วิกรัยพัฒน์ พบ.วท.ม.ตจวิทยา (ผิวหนัง)
เอกสารอ้างอิง
- http://haamor.com/th/ลมพิษ
- สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย. Clinical practice guideline: urticaria/angioedema.
- https://www.pobpad.com/ลมพิษ
ฝากติดตามบทความดีๆเรื่อง โรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง และความงาม ได้ที่คอลัมน์บทความนะครับ
โรคลมพิษ Urticaria คืออะไร สาเหตุ อาการ การวินิจฉัย การรักษา
บทความที่เกี่ยวข้อง
บทความด้านผื่นแพ้ที่ผิวหนัง
- โรคลมพิษเรื้อรัง Chronic urticaria คืออะไร อาการ สาเหตุ การรักษา
- ตรวจภูมิแพ้อาหาร การตรวจแพ้อาหาร มีอะไรบ้าง แตกต่างกันยังไง
- การตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ เหมาะสำหรับ โรคภูมิแพ้ โรคผิวหนัง ลมพิษ ผื่นแพ้สัมผัส
- โรคผื่นแพ้สัมผัส (Allergic Contact Dermatitis) คืออะไร รักษายังไงดีน่า
- การตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ที่ผิวหนังด้วย Patch Test
- Food Intolerance Test ตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง 222 ชนิด (Food IgG)
- ตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง (Food Intolerance Test) 222 ชนิด ตรวจอาหารอะไรได้บ้าง
- แพ้นิกเกิล (Nickle) ควรหลีกเลี่ยงอะไรบ้าง โลหะ ของใช้ส่วนตัว อาหาร
- ผื่นแพ้แสงจากพืช รอยดำแพ้แสงจากพืช (Phytophotodermatitis) คืออะไร รักษายังไงดี
- บทความด้านโรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ
- บทความด้านความงาม สิว ฝ้า กระ เลเซอร์ โบท็อก ฟิลเลอร์ ร้อยไหม และการปรับรูปหน้า
- บทความผ่าตัดเล็ก กำจัดไฝ กระเนื้อ ติ่งเนื้อ ก้อนที่ผิวหนัง แผลเป็นนูน และวัคซีน
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
แอลซีคลินิกสาขาโคราช ตรงข้ามตลาดสวายเรียง จ.นครราชสีมา
โทร 044-263265 , 085-6566639 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic-korat
—
แอลซีคลินิกสาขาประโคนชัย ซอยบขส.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
โทร 044-163455 , 095-6026953 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic
—-
Facebook : LC Clinic
Website : www.lcclinics.com