โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) คืออะไร รักษายังไงดีน่า
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis)
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ (Atopic dermatitis) เป็นโรคที่ผิวหนังมีการอักเสบเรื้อรัง จากปฏิกิริยาทางภูมิแพ้ภายในร่างกาย พบได้บ่อยในผู้ป่วยเด็ก แต่ก็สามารถพบในเด็กโต และผู้ใหญ่ได้เช่นเดียวกัน โดยผิวหนังมักจะมีลักษณะแห้ง ขึ้นผื่นแดง และมีอาการคันมาก ตำแหน่งการกระจายของผื่นแตกต่างกันตามอายุ
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เกิดจากอะไร
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ โดยเชื่อว่าเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น กรรมพันธ์ที่มีในตัวผู้ป่วยเอง หรือคนในครอบครัวที่มีโรคภูมิแพ้ เช่น โรคหอบหืด ภูมิแพ้อากาศ ร่วมกับภาวะทางภูมิคุ้มกันในร่างกายผู้ป่วย และเมื่อมีปัจจัยกระตุ้น เช่น อาหารบางชนิดที่แพ้ สภาพอากาศ สิ่งระคายเคือง เช่น สารเคมี น้ำหอม สบู่ แป้ง ผงซักฟอก ตัวไรฝุ่น เหงื่อ เสื้อผ้าที่ระคายผิว การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา การเกา ความเครียด มาร่วมกันจะทำให้เกิดผื่น และสามารถไปกระตุ้นให้ผื่นรุนแรงขึ้นได้
อาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
อาการของโรคนี้ที่สำคัญคือ คันมาก มีผื่นแดงแห้งเป็นขุย มักไม่มีตุ่มน้ำ ผื่นเหล่ามีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกลายเป็นตุ่มหนอง และมีน้ำเหลืองไหลซึมออกมา
ตำแหน่งของร่างกายที่มักเกิดผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
ในเด็กทารก
มักเริ่มขึ้นผื่นในวัยเด็กเล็กอายุ 2-3 เดือน ผื่นขึ้นตามบริเวณแก้ม ด้านนอกของแขน และขา ที่มีโอกาสสัมผัสสารระคายเคือง หรือมีการเสียดสี
ในเด็กโต
ผื่นจะมีลักษณะหนาขึ้น มีรอยเกา มักพบบริเวณลำคอ ข้อพับของแขนและขาด้านใน (ซึ่งแตกต่างจากทารกที่จะพบด้านนอก)
อาการที่พบร่วมกับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
- อาการทางตา เช่น โรคต้อกระจก, keratoconus, ขอบตาดำคล้ำ
- หน้าซีด (Facial pallor)
- ผิวแห้ง (Xerosis)
- กลากน้ำนม (Pityriasis alba)
- ตุ่มคันที่ผิวหนัง
- ผิวหนังเกิดการติดเชื้อได้ง่าย
- แพ้อาหาร
- ผิวแดงคัน
การรักษา โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
-
คำแนะนำเพื่อป้องกันการกำเริบของโรค
- ให้หลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อการระคายเคืองผิว โดยให้อาบน้ำวันละครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้น้ำอุ่น ใช้น้ำในการอาบให้น้อยที่สุด และใช้สบู่อ่อนฟอกเฉพาะ บริเวณรักแร้ คอ และขาหนีบ
- หลังอาบน้ำควรใช้ผ้าแห้งซับ แต่ห้ามขัดหรือถูตัว
- ควรตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันการเกิดแผลจากการเกา
- ไม่ควรสวมใส่ผ้าขนสัตว์ หรือผ้าที่มีเนื้อหยาบ
- เวลานอนควรจะเปิดแอร์ เพราะเหงื่อจะกระตุ้นให้เกิดการระเคืองต่อผิวหนัง แต่ก็ไม่ควรเปิดแอร์เย็นเกินไป
- ทำจิตใจให้สบาย พยายามไม่เครียด
- หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจจะทำให้เกิดการแพ้ เช่น นม ขนมปัง อาหารทะเล
- ควรทาครีมบำรุงผิวเป็นประจำหลังอาบน้ำ
-
การใช้สารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง
เนื่องผู้ป่วยผื่นภูมิแพ้ผิวหนังจะมีผิวแห้ง การใช้ครีมบำรุงที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง จะช่วยลดการกำเริบของโรค ครีมหรือยาทาจะต้องไม่มีส่วนประกอบของสารกันเสียและน้ำหอม เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ การเลือกใช้ครีมบำรุงผิวชนิดใดขึ้นกับความชอบ แต่ไม่ควรใช้หนาเกินไป เพราะทำให้เกิดความเหนอะหนะ วิธีการทาให้ทาหลังอาบน้ำภายใน 3 นาทีและสามารถทาร่วมกับยาทาชนิดอื่นได้
-
ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid)
ข้อดีคือช่วยลดการอักเสบได้เร็ว และป้องกันการกำเริบของผื่น แต่ก็มีข้อเสียคือหากใช้ไปนานๆจะทำให้ผิวบางลง เส้นเลือดฝอยแตก และติดเชื้อได้ง่าย โดยใช้เป็นสเตียรอยด์อ่อนๆ เช่น 0.02% Betamethasone ทาวันละ 2-3 ครั้ง และไม่ควรใช้สเตียรอยด์ที่แรงๆ โดยมีหลักการใช้คร่าวๆดังนี้
- สเตียรอยด์ที่ใช้ควรใช้ยาทาที่เป็นแบบขี้ผึ้ง โดยเฉพาะบริเวณที่ผิวแห้ง
- แม้ว่าจะใช้ยาทาสเตียรอยด์ ที่ช่วยรักษาการแพ้ แต่ก็มีโอกาสเกิดการแพ้สเตียรอยด์ได้
- การเลือกใช้ยา ครั้งแรกอาจจะใช้เป็น 1% Hydrocortisone ointment ทาผื่นที่หน้าวันละ 2-3 ครั้ง
- สำหรับยาที่มีความแรงเพิ่มขึ้นเช่น Triamcinolone หรือ Betamethasone valerate ควรใช้ทาบริเวณลำตัววันละ 1-2 ครั้งจนผื่นดีขึ้น
-
ยาทาลดการอักเสบกลุ่ม Immunomodulators
เป็นยาทากลุ่มใหม่ที่ใช้รักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ซึ่งมีประสืทธิภาพเหมือนยาทาสเตียรอยด์ แต่ผลข้างเคียงในระยะยาวน้อยกว่า ยาในกลุ่มนี้มีสองชนิด คือ Tacrolimus และ Pimecrolimus
- ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียควรให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
- ในรายที่มีอาการคัน สามารถให้ยาแก้แพ้ แก้คัน ร่วมด้วยได้
การรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังตามระยะ-ความรุนแรงของโรค
การรักษาในระยะเฉียบพลัน
- ระยะเฉียบพลัน ผื่นจะมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำและมีน้ำเหลืองซึม ควรใช้ผ้าพันแผลชุบน้ำเกลือที่สะอาดประคบแผล ให้น้ำเหลืองแห้งก่อน จากนั้นตามด้วยการทายา ยาที่ได้ผลเร็วคือยาเสตียรอยด์ แต่เมื่อผื่นหายแล้วต้องหยุดยา และไม่ควรซื้อยาสเตียรอยด์มาทางเอง เพราะจะมีผลข้างเคียงในระยะยาวได้
การรักษาในระยะเรื้อรัง
- ระยะเรื้อรัง การรักษาควรใช้ยาทาที่ไม่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ และรับประทานยาแก้แพ้ร่วมด้วย แต่หากมีอาการรุนแรงมากแพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยาสเตียรอยด์ หรือฉายแสงอัลตร้าไวโอเลต ที่เรียกว่า phototherapy ซึ่งช่วยกดภูมิในร่างกาย ไม่ให้ไวต่อสิ่งแวดล้อม และมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการรับประทานยาสเตียรอยด์
คำถามเกี่ยวกับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
1.โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ รักษาหายขาดไหม?
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โดยส่วนใหญ่มีลักษณะการดำเนินโรคเรื้อรัง และมีความรุนแรงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งปกติผู้ป่วยจะมีผื่นเกิดขึ้นเป็นๆหายๆ มีช่วงที่โรคสงบ/ผื่นยุบ และมีช่วงที่ผื่นกำเริบ ทั้งนี้ขึ้นกับการดูแลผิวหนังของผู้ป่วย และการสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดผื่น ซึ่งแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย โดยที่มีโอกาสที่โรคจะสงบและหายได้ เมื่ออายุมากขึ้น
2.เมื่อไหร่ผู้ป่วยจึงควรไปพบแพทย์
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เมื่อพบว่ายังมีผื่นคันเป็นๆหายๆ ในตำแหน่งต่างๆ โดยที่หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุของผื่นแล้ว แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น หรือเมื่อพบลักษณะการเปลี่ยนแปลงของผื่นที่แตกต่างไปจากเดิม เพราะอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัสแทรกซ้อนบริเวณที่เป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเดิมได้
3.โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังควรป้องกันอย่างไรดี
เนื่องจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเกิดได้จากหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งในส่วนของสาเหตุทางพันธุกรรมที่มีในตัวผู้ป่วยเอง หรือคนในครอบครัวที่เป็นโรคภูมิแพ้ ในปัจจุบันจึงยังไม่มีวิธีการป้องกันโรคที่ได้ผล 100% แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ เช่น อาหารที่กระตุ้นผื่น สภาพอากาศ สิ่งที่ระคายเคือง เช่น สารเคมี น้ำหอม สบู่ที่แรงๆ แป้ง ผงซักฟอก ตัวไรฝุ่น เหงื่อ เสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าระคายผิว การติดเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อรา การเกาและความเครียด จะสามารถป้องกันการเกิดผื่น และลดความรุนแรงของผื่นได้
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) คืออะไร รักษายังไงดีน่า
ผู้แต่ง : นพ.ชินดนัย วิกรัยพัฒน์ พบ.วท.ม.ตจวิทยา (ผิวหนัง)
เอกสารอ้างอิง
- http://haamor.com/th/โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก
- https://www.siamhealth.net
- Kiken DA, Silverberg NB. Atopic dermatitis in children, part 1: epidemiology, clinical features, and complications. Cutis. 2006 Oct;78(4):241-7.
- Hanifin JM. Atopic dermatitis in infants and children. Pediatr Clin North Am. 1991 Aug;38(4):763-89.
ขอขอบคุณรูปภาพจาก
บทความที่เกี่ยวข้อง
บทความด้านโรคผิวหนังเด็ก
- โรคผิวหนังเด็ก โรคผิวหนังที่พบบ่อยในเด็ก
- โรคผิวหนังเด็กในหน้าฝน ที่พบบ่อย ผื่นแดง คัน ผิวหนังอักเสบ ตุ่มพุพอง ติดเชื้อ กลาก เกลื้อน
- โรคเกลื้อนน้ำนม คืออะไร อาการ การวินิจฉัย การรักษา และการดูแลตัวเอง
- โรคผื่นผ้าอ้อม ผื่นแพ้ผ้าอ้อม (Diaper dermatitis)
- โรคลมพิษ (Urticaria) คืออะไร สาเหตุ การวินิจฉัย การรักษา และการป้องกัน
- โรคผื่นแพ้สัมผัส (Allergic Contact Dermatitis) คืออะไร รักษายังไงดีน่า
- โรคกลาก เชื้อราบนหนังศีรษะ (Tinea Capitis) สาเหตุ อาการ และการรักษา
- โรคตุ่มพุพอง (Impetigo) แผลพุพอง คืออะไร อาการ และการรักษา
- สิวในทารก (Infantile acne) คืออะไร อาการ และการรักษา
- สิวข้าวสาร (Milia) การรักษาสิวข้าวสาร กดออก ยาทา เลเซอร์
- โรคอีสุกอีใส คืออะไร อาการ การรักษา (Chickenpox)
- หน้าหนาว โรคผิวหนังเด็ก ยอดฮิต และการดูแลผิวในหน้าหนาว
- บทความด้านโรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ
- บทความด้านความงาม สิว ฝ้า กระ เลเซอร์ โบท็อก ฟิลเลอร์ ร้อยไหม และการปรับรูปหน้า
- บทความผ่าตัดเล็ก กำจัดไฝ กระเนื้อ ติ่งเนื้อ ก้อนที่ผิวหนัง แผลเป็นนูน และวัคซีน
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
แอลซีคลินิกสาขาโคราช ตรงข้ามตลาดสวายเรียง จ.นครราชสีมา
โทร 044-263265 , 085-6566639 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic-korat
—
แอลซีคลินิกสาขาประโคนชัย ซอยบขส.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
โทร 044-163455 , 095-6026953 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic
—-
Facebook : LC Clinic
Website : www.lcclinics.com