โรคผื่นขุยกุหลาบ (Pityriasis Rosea)
โรคผื่นขุยกุหลาบ โรคกลีบกุหลาบ เกลื้อนกุหลาบ คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
โรคผื่นขุยกุหลาบ คืออะไร
โรคเกลื้อนกุหลาบ หรือโรคผื่นขุยกุหลาบ (Pityriasis Rosea) คือโรคผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่ง ที่มีผื่นผิวหนังสีชมพู หรือแดงอ่อนๆ และมีขุยที่ผื่น ซึ่งเป็นที่มาของคำว่าโรคผื่นขุยกุหลาบ และผื่นของโรคนี้จะมีอาการประมาณ 100 วัน จึงมีอีกชื่อที่เรียกว่า โรคผื่นร้อยวัน
โรคผื่นขุยกุหลาบ เกิดจากอะไร
ในปัจจุบันโรคชนิดนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด โดยสันนิษฐานว่าเป็นการตอบสนองของร่างกายอย่างหนึ่งต่อภาวะติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อไวรัสกลุ่ม HHV 7 (Human herpes virus 7) นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ายาบางชนิดสามารถกระตุ้นให้เกิดผื่นขุยกุหลาบได้ เช่น ยาลดความดันกลุ่ม Angiotensin-converting enzyme inhibitor (ACEI), ยาฆ่าเชื้อกลุ่ม Metronidazole, ยารักษาสิวกลุ่ม Isotretinoin, ยารักษาโรคกระเพราะ Omeprazole เป็นต้น
โรคผื่นขุยกุหลาบ เป็นโรคติดต่อกันได้ไหม
โรคผื่นขุยกุหลาบไม่ใช่โรคติดต่อ โดยผื่นชนิดนี้จะไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสผิวหนังที่เป็นโรคได้
อาการของโรคผื่นขุยกุหลาบ
โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นๆนำมาก่อน เช่น มีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เจ็บคอ และปวดเมื่อยตามตัว จากนั้นจึงเริ่มมีผื่นขึ้น โดยแบ่งอาการของผื่นออกได้เป็น 2 ระยะ คือ
โรคผื่นขุยกุหลาบ เกลื้อนกุหลาบ คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
1.อาการผื่นขุยกุหลาบ ระยะปฐมภูมิ (ระยะเริ่มต้น)
ในช่วงเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีผื่นสีชมพูหรือสีแดง รูปร่างค่อนข้างกลมหรือเป็นวงรี และมีขุยล้อมรอบผื่น เห็นลักษณะเป็นปื้นใหญ่โดดๆ ขนาด 2-10 เซนติเมตร บริเวณหลัง หน้าอก ใบหน้า คอ หรือต้นแขนก็ได้ โดยอาจเรียกผื่นปฐมภูมินี้ว่า ผื่นแจ้งโรค หรือผื่นแจ้งข่าว (Herald Patch)
2.อาการผื่นขุยกุหลาบ ระยะแพร่กระจาย
ในช่วงต่อมาหลังจากที่เกิดผื่นปฐมภูมิแล้ว ภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ผู้ป่วยจะเกิดผื่นเป็นขุยเล็กๆ สีชมพูขนาด 0.5-1.5 เซนติเมตร แพร่กระจายบริเวณหน้าอก หน้าท้อง หลัง คอ ต้นขาและต้นแขน ซึ่งอาจมีอาการคันร่วมด้วย โดยผื่นที่เกิดขึ้นนั้นมักมีลักษณะตามแนวรอยพับของผิวหนังคล้ายต้นคริสต์มาส จึงมีชื่อเรียกว่า Christmas Tree Distribution แต่มักไม่พบผื่นนี้ที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และใบหน้า
การวินิจฉัยโรคผื่นขุยกุหลาบ
โดยทั่วไปแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการซักประวัติ และตรวจร่างกายเพื่อดูลักษณะผื่นที่ผิวหนัง แต่ถ้าแพทย์มีการสงสัยบางโรคที่มีลักษณะผื่นใกล้เคียงกัน อาจจะมีการส่งตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ เช่น การขูดเนื้อเยื่อที่ผิวหนังเพื่อไปตรวจดูเรื่องการติดเชื้อรา, การตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อซิฟิลิส, และในบางกรณีอาจจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อที่ผิวหนัง เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม
การรักษาโรคผื่นขุยกุหลาบ
การใช้ยารักษาโรคผื่นขุยกุหลาบ
- ยารับประทานแก้แพ้ กลุ่ม Antihistamine ใช้เพื่อลดอาการแพ้ และอาการคันที่ผิวหนัง
- ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย กลุ่ม Macrolide
- ยาฆ่าเชื้อไวรัส เช่น ยาฆ่าเชื้อในกลุ่ม Acyclovir
- ครีมบำรุงผิว (Moisturizer) ใช้เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวบริเวณที่เกิดผื่น
- ยาทาในกลุ่ม Steroid ใช้เพื่อลดการอักเสบของผิวหนัง
- และในบางรายที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจต้องรับการรักษาด้วยการฉายแสงอัลตราไวโอเลตบี (UVB Light Therapy) เพื่อช่วยให้อาการของโรคทุเลาลง
การดูแลตัวเองสำหรับโรคผื่นขุยกุหลาบ
- อาบน้ำด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ และหลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน หรือน้ำอุ่นจัด
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวสูตรอ่อนโยน และไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม
- หลีกเลี่ยงการเกาผื่น ถูผื่นแรงๆ และตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนจากการเกา
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และไม่ก่อให้เกิดการเสียดสีระคายเคืองต่อผิวหนัง
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อน เพราะสภาพอากาศที่อบอ้าว และการมีเหงื่อออกมากอาจทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น
- นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรสังเกตตัวเองว่า อะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นนั้นๆ เช่น ยาบางชนิด, อาหาร, เครื่องดื่ม, เครื่องสำอาง, เหงื่อ, และสิ่งแวดล้อม
ภาวะแทรกซ้อนของโรคผื่นขุยกุหลาบ
โดยทั่วไปโรคผื่นขุยกุหลาบมักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่หากมีการเกา หรือขัดถูมากเกินไป อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนที่ผิวหนังได้ นอกจากนี้หากผู้ป่วยได้รับการรักษาผิดวิธี ก็อาจทำให้เกิดอาการคันอย่างรุนแรง หรือมีผื่นเห่อมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนผู้ป่วยที่มีผิวสีคล้ำอาจมีจุดสีน้ำตาลเกิดขึ้นหลังอาการผื่นยุบหายดีแล้ว
การป้องกันโรคผื่นขุยกุหลาบ
ถึงแม้ว่าโรคผื่นขุยกุหลาบยังไม่มีวิธีการป้องกันโรคได้เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคได้อย่างแน่ชัด แต่ผู้ป่วยสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการดูแลตนเองขณะเป็นผื่น ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้าย เพื่อช่วยระบายความร้อนได้ดี และไม่ก่อให้เกิดการเสียดสีระคายเคืองต่อผิวหนัง
- อาบน้ำด้วยน้ำเย็น และหลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
- หมั่นทาโลชั่นหรือครีมบำรุงผิว เพื่อให้ผิวชุ่มชื้นอยู่เสมอ เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน
- สังเกตการใช้ชีวิตประจำวันว่า มีอะไรเป็นตัวกระตุ้นหรือก่อการระคายเคืองต่อผิว (รวมถึงอาหารและเครื่องดื่ม) เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น
การป้องกันโรคผื่นขุยกุหลาบเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
โดยทั่วไปเมื่อเป็นโรคผื่นขุยกุหลาบแล้ว มักไม่ค่อยกลับมาเป็นซ้ำอีก เนื่องจากโรคนี้ เป็นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกาย ดังนั้นเมื่อเคยเป็นครั้งหนึ่งแล้ว ร่างกายมักจะสร้างภูมิคุ้มกันไว้ ทำให้ไม่เป็นโรคนี้ซ้ำอีก และยังไม่พบว่า มีปัจจัยอะไรที่กระตุ้นให้โรคกลับเป็นซ้ำ
โรคผื่นขุยกุหลาบ เกลื้อนกุหลาบ คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
ผู้แต่ง : นพ.ชินดนัย วิกรัยพัฒน์ และ พญ.ปัทมา ปาประโคน พบ.วท.ม.ตจวิทยา (ผิวหนัง)
(หมอชิน-หมอหลิว) แพทย์ด้านผิวหนัง ประจำแอลซีคลินิก
เอกสารอ้างอิง
- ปรียา กุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร. Dermatology 2020: พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพฯ: โฮลิสติก ,2555
- https://www.pobpad.com/ผื่นกุหลาบ
- http://haamor.com/th/ผื่นขุยกุหลาบ
ฝากติดตามบทความดีๆเรื่อง โรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ ความงาม เลเซอร์ และการผ่าตัดเล็ก ได้ที่คอลัมน์บทความนะครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง
บทความด้านโรคผิวหนังอักเสบ
- โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
- โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง Lichen Simplex Chronicus คืออะไร อาการ การรักษา
- โรคตุ่มน้ำใสที่มือ ผิวหนังอักเสบ (Dyshidrosis) คืออะไร รักษายังไงดี
- โรคสะเก็ดเงิน คืออะไร สาเหตุ อาการ และการดูแลตัวเอง
- รักษาสะเก็ดเงิน ทำยังไง ยากิน ยาทา ฉายแสงอาทิตย์เทียม
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ (Atopic Dermatitis)
- โรคตุ่มนูนคันเรื้อรัง (Prurigo nodularis) คืออะไร รักษายังไงดี
- โรคเซบเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) ผิวหนังอักเสบ ที่ร่องจมูก หู หนังศีรษะ
- ผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก (Paederus dermatitis) รักษายังไงดี
- รอยดำหลังการอักเสบ (PIH) เกิดจากอะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
- บทความด้านโรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ
- บทความด้านความงาม สิว ฝ้า กระ เลเซอร์ โบท็อก ฟิลเลอร์ ร้อยไหม และการปรับรูปหน้า
- บทความผ่าตัดเล็ก กำจัดไฝ กระเนื้อ ติ่งเนื้อ ก้อนที่ผิวหนัง แผลเป็นนูน และวัคซีน
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
แอลซีคลินิกสาขาโคราช ตรงข้ามตลาดสวายเรียง จ.นครราชสีมา
โทร 044-263265 , 085-6566639 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic-korat
—
แอลซีคลินิกสาขาประโคนชัย ซอยบขส.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
โทร 044-163455 , 095-6026953 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic
—-
Facebook : LC Clinic
Website : www.lcclinics.com