โรคผิวหนังที่พบบ่อยในหน้าฝ น
โรคผิวหนังที่พบบ่อยในหน้าฝน มีอะไรบ้าง
เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ฝนที่ตกลงมา จะทำให้เกิดภาวะที่หลีกเลี่ยงได้ยากนั้นคือ อากาศที่อับชื้น เสื้อผ้าและสิ่งแวดล้อมชื้นแฉะ ซึ่งทำให้ให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ปัญหาที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าฝน มักมีสาเหตุมาจากเชื้อรา และความอับชื้น โดยโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยๆในหน้าฝนมีดังนี้
โรคผิวหนังที่พบบ่อยในหน้าฝน
1. โรคน้ำกัดเท้า (โรคเชื้อราที่เท้า)
อาการของโรคน้ำกัดเท้า
- โรคน้ำกัดเท้า หรือ โรคเชื้อราที่เท้า ในช่วงที่ฝนตกติดต่อกัน อาจจะทำให้บางพื้นที่มีน้ำท่วมขังเกิดขึ้น หรือเวลาที่ฝนตกนานเป็นชั่วโมง แล้วเราต้องเดินตากฝน ซึ่งทำให้ต้องเดินย่ำน้ำ ลุยน้ำ เป็นเวลานาน และถ้าเกิดว่ายังไม่ได้รีบทำความสะอาดเท้า ผ่านไปสักระยะหนึ่งอาจพบว่าผิวตามซอกนิ้วเท้าลอกเป็นขุยขาวๆ หรือเปื่อยยุ่ย หรืออาจถึงขั้นเป็นแผล มีน้ำเหลืองแฉะที่ผิว แสดงว่าเป็นโรคนี้ไปเรียบร้อยแล้ว
การรักษาโรคน้ำกัดเท้า
- การรักษาโรคน้ำกัดเท้า หลักการสำคัญคือเรื่องการรักษาความสะอาดที่เท้า และหลีกเลี่ยงความชื้นแฉะ แนะนำให้ล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่และเช็ดให้แห้ง ใส่ถุงเท้าที่สะอาด ไม่อับชื้น โรยแป้งฝุ่นที่เท้าลดความอับชื้น และใช้ยาทารักษาเชื้อรา เมื่อพบว่ามีอาการติดเชื้อราที่ผิวหนังแล้ว แต่ถ้ามีอาการผื่นแดงมาก แสบ คันมาก แนะนำให้รีบมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
2. โรคเชื้อราที่ขาหนีบ (สังคัง)
อาการของโรคเชื้อราที่ขาหนีบ
- โรคเชื้อราที่ขาหนีบ คือการติดเชื้อกลากบริเวณขาหนีบ ต้นขา และข้อพับต้นขา เริ่มต้นเป็นตุ่มแดง หรือผื่นแดงเล็กๆ จากนั้นค่อยๆขยายวงกว้างออกจนเป็นวงกลม เห็นเป็นขอบเขตชัดเจน ผิวจะแห้งและอาจมีขุย บริเวณตรงกลางมักเป็นผิวหนังปกติ มีอาการคัน วงมีขนาดตั้งแต่เล็กถึงขนาดใหญ่
การรักษาโรคเชื้อราที่ขาหนีบ
- ใช้ครีมทารักษาเชื้อรา
- ดูแลผิวให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ อย่าลืมเช็ดตัวให้แห้งสนิทหลังจากอาบน้ำ เพราะเชื้อราจะเจริญเติบโตได้ดีในที่อับชื้น
- หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าที่เสียดสีหรือทำให้ง่ามขาระคายเคือง. เช่น การใส่กางเกงในตึงเปรี๊ยะ หรือกางเกงขาสั้นรัดแน่นทุกชนิด
- พยายามไม่เกา เพราะการเกาเป็นการกระตุ้นผื่นคัน อาจทำให้ผื่นลุกลามไปทั่วผิว จนเกิดการติดเชื้อได้ในที่สุด
- ปรึกษาแพทย์ถ้ารอยแดงที่ตกสะเก็ดไม่หายไปใน 1-2 สัปดาห์ ถ้ารอยแดงดูแย่ลง คันมาก หรือสังเกตเห็นว่าผื่นเริ่มกลายเป็นสีเหลืองและมีหนองซึมออกมา ให้รีบมาพบแพทย์
การป้องกันเชื้อราที่ขาหนีบ
- อาบน้ำเป็นประจำทุกวัน อย่ารอจนกว่าจะถึงเวลาที่เหงื่อออกเยอะ หรือหลังจากออกกำลังกายจึงจะลงมืออาบน้ำ และอย่าลืมใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ยับยั้งแบคทีเรียและสบู่ขจัดกลิ่นตัว
-
ดูแลขาหนีบให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ ถ้ารู้ว่าตัวเองเป็นเชื้อราที่ขาหนีบได้ง่าย อาจจะลองทาแป้งยับยั้งเชื้อรา หรือแป้งป้องกันการอับชื้นบริเวณขาหนีบหลังการอาบน้ำ
- เลือกใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ควรเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมๆ และลื่นสบายเข้าไว้
- หมั่นซักกางเกงในเป็นประจำ และห้ามใช้ผ้าขนหนูหรือเสื้อผ้าร่วมกับผู้อื่น เพราะเชื้อราที่ขาหนีบอาจแพร่กระจายเมื่อสัมผัสกับเสื้อผ้า หรือผ้าเช็ดตัวที่ไม่ได้ซักล้าง
3. โรคติดเชื้อพยาธิที่เท้า (พยาธิไชเท้า)
อาการของโรคติดเชื้อพยาธิที่เท้า
- โรคติดเชื้อพยาธิที่เท้า หรือพยาธิไชเนื้อ หรือ Larva migrans เกิดจากการที่คนถูกพยาธิปากขอใชเข้าทางผิวหนัง แล้วชอนใชไปตามผิวหนัง ทำให้เกิดรอยแดงเป็นทางยาววกไปวนมาค่อยๆยาวขึ้นเรื่อยๆ รอยแดงที่เกิดขึ้นเกิดจากปฏิกิริยาต่อต้านสิ่งแปลกปลอมของร่างกายต่อเชื้อพยาธิ มีอาการคันมาก ซึ่งมักจะพบในคนที่เดินเท้าเปล่า บนดินบนทราย หรือเข้าไปในป่าที่ค่อนข้างชื้น ที่มีตัวพยาธิเกาะอยู่ตามใบไม้ ตามพื้น หรือที่แฉะ โดยเฉพาะหน้าฝนหรือน้ำท่วม จะพบได้บ่อยขึ้น
การรักษาโรคติดเชื้อพยาธิที่เท้า
- ควรใส่รองเท้าเวลาออกไปข้างนอกทุกครั้ง อย่าเดินย่ำพื้นดินด้วยเท้าเปล่า
- ถ้าพบเกิดผื่นลักษณะแบบนี้ ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรักษาให้หายด้วยการทานยาถ่ายพยาธิ
4. โรคผิวหนังอักเสบ
อาการของโรคผิวหนังอักเสบ
- ในฤดูฝน ฝุ่นลมที่มากับพายุฝน ทำให้โอกาสเกิดโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง และโรคผิวหนังอักเสบ พบได้บ่อยขึ้น นอกจากนี้การอาบน้ำอุ่นจัด หรือร้อนเกินไปในช่วงที่อากาศหนาว ยังจะทำให้ผิวหนังแห้ง เกิดอาการคันและผิวหนังอักเสบได้ง่ายอีกด้วย อาการของโรคผิวหนังอักเสบ มักจะมาด้วยผื่นแดง คันมาก และผิวลอกเป็นขุยๆ สามารถพบได้ทุกส่วนของร่างกาย
การรักษาโรคผิวหนังอักเสบ
- หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นจัด หรือร้อนจัด
- หลังจากอาบน้ำควรใช้ครีมบำรุงผิวเป็นประจำ
- ถ้าผื่นมีอาการแดงคันมาก ให้รีบมาพบแพทย์ เพื่อให้การรักษาด้วยยาแก้แพ้ และยาลดการอักเสบ
5. โรคเท้าเหม็น
อาการของโรคเท้าเหม็น
- โรคเท้าเหม็น หรือ Pitted Keratolysis เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง พบได้บ่อยในผู้ที่สวมใส่รองเท้าหุ้มส้นเป็นเวลานาน เนื่องจากทำให้มี เหงื่อออกที่เท้ามาก เท้าอับชื้น เอื้อต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ส่วนกลิ่นเหม็นนั้น เกิดจากการย่อยผิวหนังที่ฝ่าเท้าของแบคทีเรีย ส่งผลให้ได้สารในกลุ่มซัลเฟอร์ (Sulfur compound) ซึ่งเป็นสารที่ส่งกลิ่นเหม็นออกมา
- อาการของโรคเท้าเหม็น จะเห็นเป็นลักษณะผิวหนังเปื่อยถลอกที่เท้า โดยเฉพาะฝ่าเท้า เวลาถอดถุงเท้าออก จะรู้สึกว่าถุงเท้าติดกับฝ่าเท้า รอยถลอกที่ฝ่าเท้าจะมีลักษณะคล้ายแผนที่ เมื่อส่องดูด้วยแว่นขยายจะพบว่า รอยถลอกเหล่านี้ประกอบไปด้วยหลุมเล็กๆความลึกประมาณ 0.5-0.7 มิลลิเมตร ปริมาณนับไม่ถ้วน ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียย่อยสลายผิวหนัง ที่ฝ่าเท้าชั้นนอกสุด รอยโรคนี้มักพบมากที่ฝ่าเท้า บริเวณที่รับน้ำหนักมาก เช่น ฝ่าเท้าส่วนนิ้วโป้ง ส้นเท้า แต่บริเวณง่ามนิ้วเท้าที่ไม่ได้รับน้ำหนัก แต่มีความอับชื้นมาก ก็พบได้บ่อยเช่นกัน
การรักษาโรคเท้าเหม็น
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเท้าเหม็นนี้ มี 2 ปัจจัยหลักคือ การติดเชื้อแบคทีเรีย และภาวะความอับชื้นของเท้า การรักษาจึงจำเป็นต้องรักษา และดูแลปัจจัย 2 อย่างนี้
- การรักษาภาวะติดเชื้อแบคทีเรียนั้น โดยหลักใช้เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดทา เช่น Clindamycin, Erythromycin และ/หรือ ยาทาที่ช่วยให้ผิวหนังลอกตัว เพื่อสร้างผิวหนังขึ้นใหม่ และมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย เช่น Benzoyl peroxide หรือ ยาที่เป็นแป้งผงฆ่าเชื้อ โดยทายา เช้า-เย็น จนกว่าผื่นของโรคจะหาย ซึ่งขึ้นอยู่กับการหลีกเลี่ยงภาวะอับชื้นของเท้าด้วย
- การป้องกันภาวะอับชื้น ทำได้โดย ลดเวลาในการใส่รองเท้าหุ้มส้นให้เหลือน้อยๆที่สุด, หากมีเหงื่อออกมาก ควรเปลี่ยนถุงเท้าระหว่างวัน เพื่อลดความอับชื้น, ทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่ที่มียาฆ่าเชื้อเป็นส่วนผสม แล้วเช็ดเท้าให้แห้งเป็นประจำ
โรคผิวหนังที่พบบ่อยในหน้าฝน มีอะไรบ้าง
ผู้แต่ง : นพ.ชินดนัย วิกรัยพัฒน์ พบ.วท.ม.ตจวิทยา (ผิวหนัง)
(หมอชิน) แพทย์ด้านผิวหนัง
เอกสารอ้างอิง
- http://haamor.com/th/เท้าเหม็น
- https://health.kapook.com
- http://th.wikihow.com/รักษาเชื้อราที่ขาหนีบ
- https://board.postjung.com
ฝากติดตามบทความดีๆเรื่อง โรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง และความงาม ได้ที่คอลัมน์บทความนะครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง
บทความด้านผิวพรรณและการดูแลตัวเอง
- ไมเยอร์ คอกเทล (Myers Cocktail) วิตามินบำรุงร่างกายและผิวพรรณ
- ผิวแห้ง โรคผิวหนังแห้ง คืออะไร สาเหตุ อาการ และการรักษา
- รักษา ขนคุด ทำยังไงดี ยากิน ยาทา ทรีทเมนท์ เลเซอร์
- โรคผิวหนังในหน้าร้อน โรคผิวหนังที่พบบ่อย และการดูแลผิวในฤดูร้อน
- การดูแลผิวในช่วงหน้าฝน การดูแลผิวพรรณในฤดูฝน
- 9 เคล็ดลับดูแลผิวช่วงหน้าหนาว โดยแพทย์ผิวหนัง
- โรคผิวหนังที่พบบ่อยในหน้าฝน โรคน้ำกัดเท้า เชื้อราที่ขาหนีบ พยาธิที่เท้า
- หมอเตือนภัย ครีมผิวขาว ใช้แล้วผิวบาง รอยผิวแตกสีม่วงคล้ำ มีสารอันตราย
- บุหรี่ส่งผลยังไงต่อ ผมร่วง ผิวหนัง และความสวย
- บทความด้านโรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ
- บทความด้านความงาม สิว ฝ้า กระ เลเซอร์ โบท็อก ฟิลเลอร์ ร้อยไหม และการปรับรูปหน้า
- บทความผ่าตัดเล็ก กำจัดไฝ กระเนื้อ ติ่งเนื้อ ก้อนที่ผิวหนัง แผลเป็นนูน และวัคซีน
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
แอลซีคลินิกสาขาโคราช ตรงข้ามตลาดสวายเรียง จ.นครราชสีมา
โทร 044-263265 , 085-6566639 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic-korat
—
แอลซีคลินิกสาขาประโคนชัย ซอยบขส.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
โทร 044-163455 , 095-6026953 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic
—-
Facebook : LC Clinic
Website : www.lcclinics.com