โรคตุ่มพุพอง (Impetigo)
โรคตุ่มพุพอง Impetigo แผลพุพอง คืออะไร สาเหตุ อาการ การวินิจฉัย การรักษา
โรคตุ่มพุพอง Impetigo แผลพุพอง คืออะไร
โรคตุ่มแผลพุพอง หรือตุ่มพุพอง (Impetigo) คือ โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง ในบริเวณชั้นตื้นๆของหนังกำพร้า พบผื่นชนิดนี้ได้บ่อยในเด็กและทารก สามารถกระจายไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย จากการสัมผัสหรือเกาที่บริเวณแผล และสามารถแพร่กระจ่ายสู่คนอื่นได้จากการสัมผัส หรือใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว รวมถึงของเล่น มักพบผื่นชนิดนี้ที่บริเวณใบหน้า แขน และขา
สาเหตุของโรคตุ่มแผลพุพอง
โรคตุ่มแผลพุพอง มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง โดยแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค ได้แก่ แบคทีเรียชนิด Streptococcus pyogenes และชนิด Staphylococcus aureus ซึ่งเป็นเชื้อที่อาจพบได้บริเวณผิวหนังและทางเดินหายใจ
โรคตุ่มพุพอง Impetigo แผลพุพอง อาการเป็นอย่างไร
อาการของโรคแผลพุพองนี้ สามารถแบ่งย่อยๆได้ 3 แบบ คือ แบบมีตุ่มน้ำ แบบไม่มีตุ่มน้ำ และแบบรุนแรง โดยมีลักษณะและอาการดังต่อไปนี้
1.โรคตุ่มแผลพุพองแบบมีตุ่มน้ำ (Bullous Impetigo)
อาการของแผลพุพองชนิดนี้ จะมีตุ่มน้ำพองใสขนาด 1-2 เซนติเมตรขึ้นตามร่างกาย บริเวณลำตัวจนถึงลำคอ หรือที่แขนและขาทั้ง 2 ข้าง อาจแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วไปตามส่วนต่างๆของร่างกาย จากนั้นตุ่มน้ำจะแตกออก กลายเป็นสะเก็ดสีเหลือง มีอาการเจ็บที่บริเวณแผล และคันในบริเวณรอบๆ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือการเกา เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรีย อาจมีไข้ และมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วยได้ แผลพุพองแบบมีตุ่มน้ำชนิดนี้ สามารถรักษาให้หายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์โดยไม่ทิ้งรอยแผลเป็น
2.โรคตุ่มแผลพุพองแบบไม่มีตุ่มน้ำ (Non-Bullous Impetigo)
อาการของแผลพุพองชนิดนี้ จะมีตุ่มหรือผื่นแดง ขนาดประมาณ 2 เซนติเมตรหรือเล็กกว่า เมื่อแตกออกจะกลายเป็นแผล มักจะขึ้นที่บริเวณรอบจมูกและปาก แต่ก็อาจขึ้นที่ส่วนอื่นๆของใบหน้า แขน และขาได้เช่นกัน ผื่นชนิดนี้จะไม่ค่อยเจ็บที่บริเวณแผล แต่จะมีอาการคัน แผลอาจกระจายเป็นบริเวณกว้างอย่างรวดเร็ว และทิ้งสะเก็ดหนาสีเหลือง หลังจากสะเก็ดหลุดแล้วจะทิ้งรอยแดง โดยปกติจะใช้เวลาในการรักษาประมาณ 1-2 สัปดาห์ รอยแผลก็จะค่อยๆดีขึ้น อาจมีไข้สูง และมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วยได้ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือเกาเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรีย ไปยังส่วนอื่นๆของร่างกาย และบุคคลใกล้ชิด
3.โรคตุ่มแผลพุพองแบบเป็นตุ่มหนอง (Ecthyma)
แผลพุพองชนิดนี้ จะเป็นการติดเชื้อลึกลงไปที่ผิวหนังมากกว่าชนิดอื่น โดยจะติดเชื้อลึกลงไปถึงชั้นหนังแท้ อาการเริ่มต้นจะมีลักษณะคล้ายโรคแผลพุพองแบบไม่มีตุ่มน้ำ แต่รอยโรคจะลึกกว่า เมื่อตุ่มแผลแตกออกจะมีของเหลว หรือหนองไหลออกมา จากนั้นแผลจะตกสะเก็ดเป็นสีเหลือง ขอบแผลชัด มักพบที่บริเวณขา หรือเท้าของเด็ก ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง หรือผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ก็สามารถพบผื่นชนิดนี้ได้เช่นเดียวกัน
โรคตุ่มพุพอง Impetigo แผลพุพอง คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตุ่มแผลพุพอง
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตุ่มแผลพุพอง ได้แก่
- เด็กที่มีอายุระหว่าง 2-6 ปี
- เด็กที่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม เช่น ในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือในโรงเรียน
- ผู้ที่มีการระคายเคืองผิว หรือมีโรคผิวหนังอยู่ก่อนแล้ว
- ผู้ที่มีสุขอนามัยที่ไม่ดี ไม่รักษาความสะอาด
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในสถานที่แออัด หรือร้อนชื้น ซึ่งจะเป็นที่ที่แบคทีเรียสามารถแพร่กระจายได้ง่าย
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือในผู้ป่วยโรคมะเร็งจากการทำคีโม เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคตุ่มแผลพุพอง
โดยทั่วไปแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคตุ่มแผลพุพองได้ จากการซักประวัติอาการ ประวัติการเกิดแผล ประวัติการสัมผัสโรค การตรวจร่างกายโดยตรวจดูรอยโรคเป็นหลัก โดยอาจมีการส่งเพาะเชื้อจากแผล เพื่อยืนยันชนิดของเชื้อแบคทีเรีย และเพื่อดูประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะต่อเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคแผลพุพอง ส่วนการตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรค เพื่อส่งตรวจพิเศษทางพยาธิวิทยา อาจทำในกรณีที่แพทย์ไม่แน่ใจในการวินิจฉัย หรือในผู้ป่วยที่เป็นแผลมานาน โดยที่รักษาแล้ว แผลไม่ดีขึ้น
โรคตุ่มพุพอง Impetigo แผลพุพอง คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
โรคตุ่มพุพอง Impetigo แผลพุพอง รักษายังไง
การดูแลรักษาโรคตุ่มแผลพุพอง โดยทั่วไปจะใช้เวลารักษาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยก็จะเริ่มเห็นอาการดีขึ้น ซึ่งผลของการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการ และระดับความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย ถ้าอาการไม่รุนแรง แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ ร่วมกับแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลเสริมสร้างสุขอนามัยของตนให้ดีขึ้น เพื่อรักษาและป้องกันการแพร่ของเชื้อแบคทีเรีย
การรักษาสามารถทำได้โดยวิธีต่างๆดังต่อไปนี้
1.การใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic)
- กลุ่มยาปฏิชีวนะชนิดใช้ภายนอก ยาในกลุ่มนี้มีทั้งยาทาชนิดครีม ขี้ผึ้ง และยาฟอกทำความสะอาดผิว ใช้ในผู้ที่มีแผลพุพองในระดับที่ไม่รุนแรง และเป็นไม่มาก หรือใช้ร่วมกันการรักษาวิธีอื่นในรายที่เป็นมาก ก่อนทายาควรล้างมือและทำความสะอาดในบริเวณที่เป็นแผล ทายาเป็นประจำทุกวัน 2-3 ครั้งต่อวัน ทาต่อเนื่องนานอย่างน้อย 1 สัปดาห์ การใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มนี้ อาจมีผลข้างเคียงได้ในผู้ป่วยบางราย เช่น ระคายเคือง แดงหรือคัน ในบริเวณที่ทาครีม หลังใช้ยากลุ่มนี้ ถ้าพบว่าอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์
- กลุ่มยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน ยาในกลุ่มนี้มีทั้งในรูปแบบยาน้ำและยาเม็ด ใช้สำหรับผู้ที่มีอาการแผลพุพองรุนแรง และกระจายเป็นบริเวณกว้าง หรือใช้ในผู้ป่วยที่ใช้ยาปฏิชีวนะแบบทา แล้วอาการไม่ดีขึ้น รับประทานต่อเนื่องนานประมาณ 1-2 สัปดาห์ ควรรับประทานยาให้หมดตามที่แพทย์สั่ง ถึงแม้จะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม การใช้ยาปฏิชีวนะแบบรับประทานสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ในผู้ป่วยบางราย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง เป็นต้น หลังใช้ยากลุ่มนี้ ถ้าพบว่าอาการไม่ดีขึ้น ควรกลับไปพบแพทย์อีกครั้ง
2.การดูแลแผล
การดูแลแผลพุพอง ทำได้โดยล้างแผลด้วยน้ำเกลือปราศจากเชื้อ (Normal saline) ให้สะอาด ทาบริเวณแผลด้วยยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมกับเชื้อ เพื่อกำจัดเชื้อบริเวณแผล และช่วยส่งเสริมกระบวนการหายของแผล ผู้ป่วยต้องไม่บีบ แคะ แกะ เกา บริเวณตุ่มแผล เพราะจะเพิ่มโอกาสที่เชื้อจะกระจายไปผิวหนังบริเวณอื่น หรือแผลลุกลามลึกลงไป และทำให้แผลหายช้า
การดูแลตนเองสำหรับโรคตุ่มแผลพุพอง
โรคแผลพุพองสามารถป้องกันได้ โดยเริ่มต้นจากการรักษาความสะอาด และสำหรับผู้ที่เป็นแผลพุพอง สามารถดูแลตัวเอง และป้องกันการแพร่กระจายของโรคสู่ผู้อื่นได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ แล้วเช็ดมือด้วยผ้าที่สะอาด
- อาบน้ำให้สะอาดสม่ำเสมอ อย่างน้อยควรอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง
- ทำความสะอาดแผลทันทีด้วยสบู่ที่อ่อนโยนต่อผิวและน้ำสะอาด จากนั้นทายาฆ่าเชื้อ และปิดแผลให้เรียบร้อย
- ทำความสะอาดบ้านด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย
- ซักผ้าด้วยน้ำร้อน จะสามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียได้
- ตัดเล็บให้สั้นเป็นประจำ ไม่ควรปล่อยไว้ให้ยาว เพื่อป้องกันการเกาจนแผล และเกิดการอักเสบมากขึ้น
- ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
- ควรให้เด็กที่เป็นแผลพุพองอยู่แต่ในบ้านจนกว่าจะหาย ผู้ปกครองไม่ควรพาไปในที่ที่มีคนพลุกพล่าน เช่น โรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก เป็นต้น
ผลข้างเคียงจากโรคตุ่มแผลพุพอง
ถึงแม้ว่าโรคแผลพุพองอาจสามารถหายได้เอง แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรได้รับการรักษาที่เหมาะสมจากแพทย์ เพื่อให้ผื่นและแผลหายเร็วขึ้น ลดการติดต่อไปสู่ผู้อื่น และยังลดโอกาสเชื้อลุกลาม เช่น การติดเชื้อเข้าสู่ผิวหนังชั้นลึก ซึ่งการรักษาจะยุ่งยากมากขึ้น และเมื่อแผลหายแล้วอาจทิ้งให้เกิดรอยแผลเป็นได้ นอกจากนี้ การรักษาโดยแพทย์ยังช่วยลดโอกาสเกิดโรคกรวยไตอักเสบจากปฏิกริยาภูมิคุ้มกันร่างกาย (Poststreptococcal Glomerulonephritis) อีกด้วย
โรคตุ่มพุพอง Impetigo แผลพุพอง คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
ผู้แต่ง : นพ.ชินดนัย วิกรัยพัฒน์ และ พญ.ปัทมา ปาประโคน พบ.วท.ม.ตจวิทยา (ผิวหนัง)
(หมอชิน-หมอหลิว) แพทย์ผิวหนัง ประจำแอลซีคลินิก
เอกสารอ้างอิง
- ปรียา กุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร. Dermatology 2020: พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพฯ: โฮลิสติก ,2555
- http://haamor.com/th/โรคพุพอง
- https://www.pobpad.com/แผลพุพอง
- https://th.wikipedia.org/wiki/โรคพุพอง
ฝากติดตามบทความดีๆเรื่อง โรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ ความงาม เลเซอร์ และการผ่าตัดเล็ก ได้ที่คอลัมน์บทความนะครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคผิวหนังที่พบบ่อยในเด็ก
- โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) คืออะไร สาเหตุ อาการ และการรักษา
- โรคตุ่มน้ำใสที่มือ ผิวหนังอักเสบ (Dyshidrosis) คืออะไร รักษายังไงดี
- โรคกลาก เชื้อราที่ผิวหนัง อาการ สาเหตุ การวินิจฉัย และการรักษา
- โรคเกลื้อน (Pityriasis Versicolor) คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
- ผื่นจากแมลงกัด ตุ่มแพ้แมลงกัด (Insect bite reaction)
- โรคอีสุกอีใส คืออะไร อาการ การรักษา (Chickenpox)
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ (Atopic Dermatitis)
- โรคตุ่มนูนคันเรื้อรัง (Prurigo nodularis) คืออะไร รักษายังไงดี
- บทความด้านโรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ
- บทความด้านความงาม สิว ฝ้า กระ เลเซอร์ โบท็อก ฟิลเลอร์ ร้อยไหม และการปรับรูปหน้า
- บทความผ่าตัดเล็ก กำจัดไฝ กระเนื้อ ติ่งเนื้อ ก้อนที่ผิวหนัง แผลเป็นนูน และวัคซีน
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
แอลซีคลินิกสาขาโคราช ตรงข้ามตลาดสวายเรียง จ.นครราชสีมา
โทร 044-263265 , 085-6566639 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic-korat
—
แอลซีคลินิกสาขาประโคนชัย ซอยบขส.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
โทร 044-163455 , 095-6026953 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic
—-
Facebook : LC Clinic
Website : www.lcclinics.com