โรคผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ (Dyshidrosis)
โรคตุ่มน้ำใสที่มือ ผิวหนังอักเสบ (Dyshidrosis) เกิดจากอะไร รักษายังไงดี
โรคตุ่มน้ำใสที่มือ คืออะไร
โรคผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส หรือโรคตุ่มน้ำใสที่ผิวหนัง มีเรียกด้วยกันหลายชื่อ ได้แก่ Dyshidrosis, Dyshidrotic Eczema, Pompholyx เป็นต้น
โรคตุ่มน้ำใส คือโรคผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่ง มักมาด้วยอาการเป็นตุ่มน้ำใสเล็กๆ ขึ้นที่บริเวณนิ้วมือ นิ้วเท้า ฝ่ามือ และฝ่าเท้า อาจทำให้เกิดอาการปวดและคันรุนแรงได้
อาการของโรคผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส
- อาการจะเริ่มจากเป็นผื่นแดง จากนั้นจะเกิดตุ่มน้ำใสขนาดเล็กขึ้นเป็นกลุ่ม
- มักขึ้นตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือและข้างนิ้วมือ หรืออาจเกิดที่เท้าและนิ้วเท้าก็ได้แต่พบน้อยกว่า
- อาจมีอาการคัน แสบร้อน และปวดบริเวณที่เป็นร่วมด้วยได้
- หากเกาที่ผื่นแรงๆ ตุ่มน้ำใสอาจจะแตกออก และมีของเหลวไหลออกมา
- เมื่อแผลเริ่มแห้งจะกลายเป็นแผ่นแข็งลอกเป็นสะเก็ดได้
สาเหตุของโรคผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส
สาเหตุของโรคผิวหนังอักเสบชนิดนี้ (Dyshidrotic Eczema) ในปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดผื่นขึ้นได้ดังนี้
- การเจ็บป่วยต่างๆ เช่น เป็นโรคภูมิแพ้, โรคภูมิแพ้ผิวหนัง, การเจ็บป่วยไม่สบายต่างๆที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ
- ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ
- การไปสัมผัสกับสารที่ก่อการระคายเคืองหรือการแพ้ เช่น ผงซักฟอก, น้ำยาล้างจาน, น้ำยาทำความสะอาด, ไปจนถึงปูนซีเมนต์ โคบอลต์ และโลหะนิกเกิล โครเมี่ยม เป็นต้น
- การติดเชื้อราที่ผิวหนัง โดยอาจเกิดผื่นขึ้นบริเวณมือที่ติดเชื้อรา หรือเกิดผื่นที่มือแต่ติดเชื้อราที่ผิวหนังบริเวณอื่นก็ได้
- การสัมผัสกับน้ำหรือความอับชื้นเป็นเวลานาน
- ความเครียด การพักผ่อนน้อย
- ภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ติดเชื้อ HIV
การวินิจฉัยโรคผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส
โดยทั่วไปแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคตุ่มน้ำใสนี้ได้ จากการซักประวัติ และตรวจร่างกายดูลักษณะของผื่นที่มือและเท้า แต่ถ้าแพทย์มีการสงสัยโรคอื่นที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคติดเชื้อราที่ผิวหนัง โรคภูมิแพ้ผิวหนัง หรือภาวะแพ้สารบางชนิด อาจจะมีการส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค
โรคตุ่มน้ำใสที่มือ โรคผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส รักษายังไง
โรคนี้ในปัจจุบันมีการรักษาร่วมกันได้หลายวิธี ทั้งยากิน ยาทา และการฉายแสง โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.กลุ่มยากิน
ยากินที่ใช้ในการรักษาโรคผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ มีตั้งแต่การรับประทานยาแก้แพ้เพื่อช่วยลดอาการแพ้และอาการคันในรายที่เป็นไม่มาก ส่วนในรายที่เป็นมากแพทย์อาจพิจารณาให้ยากินสเตียรอยด์ หรือยากดภูมิบางชนิดร่วมด้วยได้
ยากินฆ่าเชื้อ ใช้ในกรณีที่สงสัยมีภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น การให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ใช้ในกรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เช่น เป็นตุ่มหนอง ปวดบวมแดงที่ผื่น และการให้ยาฆ่าเชื้อรา ใช้ในกรณีที่สงสัยหรือตรวจพบมีการติดเชื้อราแทรกซ้อน
2.กลุ่มยาทา
ยาทาที่ใช้ในการรักษาโรคผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ ได้แก่ ครีมทาบำรุงผิว (Moisturizer), ครีมที่มีส่วนผสมของยาทาสเตียรอยด์ มีใช้ตั้งแต่ครีมสเตียรอยด์ความแรงต่ำไปจนถึงความแรงสูง, ครีมทาที่มีส่วนผสมของยาทากลุ่ม Calcineurin inhibitor เป็นต้น
3.การฉายแสง
การฉายแสงอาทิตย์เทียมในการรักษาโรคผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ จะใช้ในกรณีที่คนไข้มีอาการหนัก หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยากินและยาทา โดยการฉายแสงอาทิตย์เทียมควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผิวหนัง
เมื่อไหร่ผื่นโรคผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำจะหาย
อาการตุ่มน้ำใสและผิวลอกนี้ จะเป็นๆหายๆได้เรื่อยๆ อาจเป็นนานหลายเดือนหรือเป็นปี โดยที่จะถูกกระตุ้นเป็นช่วงๆ ถ้ามีปัจจัยมากระตุ้นผื่นช่วงนั้นพอดี การรักษาจะเป็นการใช้ยากินยาทาเป็นหลัก ร่วมกับการปรับพฤติกรรมของคนไข้ ซึ่งใช้เวลานานเป็นเดือนหรือหลายเดือน ผื่นจะค่อยๆดีขึ้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่เป็นร่วมด้วย
การดูแลตัวเองเมื่อเป็น โรคตุ่มน้ำใสที่มือ
- ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดเหงื่อมากเกินไป
- ควรล้างมือด้วยน้ำเปล่า และอย่าล้างมือบ่อยเกินไป โดยเฉพาะการล้างด้วยสบู่
- ควรทาครีมบำรุงผิวหลังล้างมือทุกครั้ง
- ระวังอย่าให้มือและเท้าแห้งเกินไป
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมี โลหะ หรือเครื่องประดับจิวเวอรี่
- อาบน้ำด้วยสบู่เหลวอ่อนๆ และล้างสบู่ออกให้สะอาด
- ไม่ควรอาบน้ำอุ่น ควรอาบน้ำที่อุณหภูมิกลางๆไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป
- พยายามไม่ให้เท้าอับชื้นเกินไป
- ถ้าหากจำเป็นต้องสัมผัสกับสารเคมีอาจจะใส่ถุงมือป้องกัน (แต่ไม่ควรใช้ถุงมือยาง)
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึกและไม่เครียด
ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ในโรคตุ่มน้ำใสที่มือ
- การติดเชื้อแทรกซ้อนจากตุ่มน้ำที่แตกออก พบได้ทั้งตุ่มหนองที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่ผิวหนัง
- การเกิดผื่นแพ้สัมผัส หรือผื่นแพ้จากการระคายเคือง เนื่องจากมีแผลเปิดที่ผิวหนังจากผิวหนังอักเสบ ทำให้เกิดการแพ้และการระคายเคืองได้มากขึ้น
โรคตุ่มน้ำใสที่มือ ผิวหนังอักเสบ (Dyshidrosis) คืออะไร รักษายังไงดี
ผู้แต่ง : นพ.ชินดนัย วิกรัยพัฒน์ และ พญ.ปัทมา ปาประโคน พบ.วท.ม.ตจวิทยา (ผิวหนัง)
(หมอชิน-หมอหลิว) แพทย์ผิวหนัง ประจำแอลซีคลินิก
เอกสารอ้างอิง
- www.uptodate.com
- ปรียา กุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร. Dermatology 2020: พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพฯ: โฮลิสติก ,2555
- อภิชาติ ศิวยาธร . โรคผิวหนังต้องรู้สำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป . พิมพ์ครั้งที่ 5 .สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
- http://haamor.com/th/ผื่นผิวหนังอักเสบ
- https://www.pobpad.com/dyshidrotic-eczema-ผื่นผิวหนังอักเสบชนิ
- https://www.honestdocs.co/dyshidrotic-eczema
ฝากติดตามบทความดีๆเรื่อง โรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ ความงาม เลเซอร์ และการผ่าตัดเล็ก ได้ที่คอลัมน์บทความนะครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง
บทความด้านโรคผิวหนังอักเสบ
- โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) คืออะไร สาเหตุ อาการ และการรักษา
- โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง Lichen Simplex Chronicus คืออะไร อาการ การรักษา
- โรคสะเก็ดเงิน คืออะไร สาเหตุ อาการ และการดูแลตัวเอง
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ (Atopic Dermatitis)
- โรคเซบเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) ผิวหนังอักเสบ ที่ร่องจมูก และหนังศีรษะ
- โรคผื่นขุยกุหลาบ โรคกลีบกุหลาบ สาเหตุ อาการ และการรักษา
- บทความด้านโรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ
- บทความด้านความงาม สิว ฝ้า กระ เลเซอร์ โบท็อก ฟิลเลอร์ ร้อยไหม และการปรับรูปหน้า
- บทความผ่าตัดเล็ก กำจัดไฝ กระเนื้อ ติ่งเนื้อ ก้อนที่ผิวหนัง แผลเป็นนูน และวัคซีน
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
แอลซีคลินิกสาขาโคราช ตรงข้ามตลาดสวายเรียง จ.นครราชสีมา
โทร 044-263265 , 085-6566639 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic-korat
—
แอลซีคลินิกสาขาประโคนชัย ซอยบขส.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
โทร 044-163455 , 095-6026953 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic
—-
Facebook : LC Clinic
Website : www.lcclinics.com