โรคซิฟิลิสที่ผิวหนัง (Syphilis)
โรคซิฟิลิสที่ผิวหนัง (Syphilis) คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
โรคซิฟิลิสที่ผิวหนัง (Syphilis) คืออะไร
โรคซิฟิลิส (Syphilis) คือ โรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง โดยทั่วไปมักจะติดต่อกันผ่านทางการมีเพศสัมพันธุ์ ทำให้เกิดเป็นผื่นหรือแผลที่ผิวหนัง สามารถรักษาให้หายได้ แต่หากปล่อยไว้ไม่ทำการรักษา อาจทำให้เกิดปัญหารุนแรงในหลายอวัยวะตามมาได้
โรคซิฟิลิสที่ผิวหนัง (Syphilis) มีอาการอย่างไร
อาการของโรคซิฟิลิส จะมีการดำเนินโรคเป็นระยะ โดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
1.โรคซิฟิลิสระยะที่ 1 (Primary syphilis)
โรคซิฟิลิสระยะนี้จะเกิดแผลขนาดเล็กบริเวณที่ได้รับเชื้อ ในระยะแรกจะเป็นตุ่มเล็กๆ ต่อมาแตกออกเป็นแผล โดยก้นขอบแผลมีลักษณะเรียบและแข็งที่เรียกว่า แผลริมแข็ง (Chancre) มีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม มักพบบริเวณอวัยวะเพศและริมฝีปาก และอาจมีการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบได้ ผื่นมักขึ้นหลังการได้รับเชื้อประมาณ 3 สัปดาห์ แต่ก็อาจพบผื่นลักษณะนี้ได้ ในช่วง 10-90 วัน มักไม่มีอาการเจ็บปวด และจะค่อยๆหายไปได้เองภายใน 6 สัปดาห์ แม้ไม่ได้รับการรักษา
2.โรคซิฟิลิสระยะที่ 2 (Secondary syphilis)
โรคซิฟิลิสระยะนี้ มักเกิดหลังจากที่เป็นแผลซิฟิลิสระยะที่ 1 ประมาณ 6-8 สัปดาห์ แต่บางรายอาจนานเป็นเวลาหลายเดือนก็ได้ โรคซิฟิลิสระยะที่ 2 จะเป็นระยะที่เชื้อกระจายไปตามกระแสเลือด ทำให้เกิดอาการได้หลายอวัยวะ เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต และมีผื่นที่ผิวหนัง
อาการผื่นที่ผิวหนังและเยื่อบุ ที่พบได้ในโรคซิฟิลิสระยะที่ 2 ได้แก่
- ผื่นที่ผิวหนัง (Skin rash) เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด ผื่นที่ผิวหนังที่พบมีได้หลายแบบ เช่น ผื่นแบนราบ ผื่นนูน ตุ่มหนอง และผื่นนูนมีสะเก็ด โดยผื่นที่พบได้บ่อยคือ ผื่นแบนราบร่วมกับผื่นนูน (Maculopapular rash) และผื่นนูนมีสะเก็ดที่ฝ่ามือฝ่าเท้า (Papulosquamous rash)
- ผื่นที่อวัยวะเพศ (Condyloma lata) คือผื่นที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังอับชื้น เช่น รอบๆอวัยวะเพศ หรือบริเวณทวารหนัก
- ผื่นที่เยื่อบุ (Mucous patch) คือผื่นที่เกิดขึ้นบริเวณเยื่อบุในช่องปากหรืออวัยวะเพศ มีลักษณะเป็นแผลตื้นๆ และมีเยื่อสีขาวคลุมอยู่
- ผมร่วง (Alopecia) ลักษณะที่พบได้บ่อย คือมีอาการผมร่วงเป็นหย่อมๆกระจายหลายจุด (Moth-eaten alopecia) แต่ก็อาจพบผมร่วงแบบอื่นได้เช่นกัน
โรคซิฟิลิสระยะแฝง (Latent syphilis)
โรคซิฟิลิสในระยะแฝงนี้ โดยส่วนใหญ่จะตรวจไม่พบความผิดปกติของร่างกาย เช่น ระบบหัวใจ หลอดเลือด ระบบประสาท และผิวหนังปกติ แต่จะตรวจเจอได้จากการตรวจเลือดด้วยวิธี VDRL หรือ RPR และตรวจยืนยันด้วยวิธี TPHA ซึ่งจะให้ผลเลือดเป็นบวกทั้งคู่
3.โรคซิฟิลิสระยะที่ 3 (Tertiary syphilis)
โรคซิฟิลิสในระยะนี้ จะเกิดขึ้นหลังจากโรคสงบอยู่ในระยะแฝงนานเป็นปีๆ ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา จะแสดงอาการของโรคในระยะสุดท้ายนี้ โดยอาการที่พบได้บ่อยในซิฟิลิสระยะที่ 3 คือ
- Benign late syphilis จะพบรอยโรคที่เกิดจากการทำลายเนื้อเยื่อที่ผิวหนัง เยื่อบุกระดูก และอวัยวะเพศภายใน
- Neurosyphilis จะพบการติดเชื้อในระบบประสาท โดยตรวจดูได้จากการเจาะน้ำไขสันหลังมาตรวจ จะพบการเพิ่มของจำนวนเซลล์และโปรตีน หรือผลการตรวจน้ำไขสันหลังด้วยวิธี VDRL หรือ TPHA ให้ผลบวก สามารถมีอาการทางระบบประสาทหรือไม่ก็ได้ จึงควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทวิทยา
สาเหตุของโรคซิฟิลิส
โรคซิฟิลิส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ทรีโพนีมาพัลลิดุม (Treponema pallidum) โดยติดต่อกันผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคซิฟิลิสในระยะที่ 1 หรือสัมผัสกับน้ำเหลืองที่ผิวหนังของผู้ที่เป็นโรคซิฟิลิสในระยะที่ 2 นอกจากนี้เชื้อยังสามารถติดจากแม่ไปสู่ลูกในขณะตั้งครรภ์โดยผ่านทางรกและในขณะคลอดได้ด้วย ส่วนโรคซิฟิลิสในระยะที่ 3 มักจะเป็นระยะที่ไม่มีการติดต่อ
การติดต่อของโรคซิฟิลิส
- เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อเมือก เช่น ช่องคลอด ท่อปัสสาวะ ทวารหนัก ช่องปาก เยื่อบุตา หรือผ่านทางรอยถลอกหรือบาดแผลเล็กน้อยที่ผิวหนัง เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายเชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือด และไปยังอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดโรคตามอวัยวะและเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาในระยะยาว
- เนื่องจากเชื้อซิฟิลิสเป็นเชื้อที่อ่อนแอและตายได้ง่าย ดังนั้น เชื้อจึงไม่สามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสมือหรือเสื้อผ้า การนั่งโถส้วม การจับลูกบิดประตู การใช้ช้อนส้อม การเล่นในอ่างอาบน้ำหรือสระว่ายน้ำร่วมกัน
ระยะฝักตัวของเชื้อซิฟิลิส
ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดอาการ ใช้เวลาประมาณ 10-90 วัน (โดยเฉลี่ยคือประมาณ 21 วัน)
การวินิจฉัยโรคซิฟิลิส
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการซักประวัติและตรวจดูลักษณะของผื่นและผมร่วงที่เข้าได้กับโรคนี้ แล้วตรวจเลือดด้วยวิธี VDRL หรือ RPR และตรวจยืนยันด้วยวิธี TPHA ซึ่งจะให้ผลเลือดเป็นบวกทั้งคู่
โรคซิฟิลิสที่ผิวหนัง (Syphilis) รักษายังไง
โดยทั่วไปการรักษาโรคซิฟิลิส จะเป็นการใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น ยาเพนนิซิลินในปริมาณสูง ถึงแม้ว่าอาการของโรคในระยะแรกมักเกิดขึ้นแล้วหายไป และอาการในระยะท้ายมักไม่ค่อยแสดงอาการ แต่เชื้อยังคงอยู่ในร่างกาย จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาให้ถูกวิธีก่อนโรคมีการพัฒนามากขึ้น จนรุนแรงต่อระบบอื่นในร่างกาย ในช่วงระหว่างการรักษา ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรค หรือกระตุ้นให้โรคเกิดการกำเริบมากขึ้น และแนะนำให้พาคู่นอนมาตรวจดูด้วยเช่นกัน
การรักษาโรคซิฟิลิส ระยะที่ 1 และ 2
การรักษาโรคซิฟิลิสระยะนี้ แพทย์จะทำการฉีดยา Banzathine penicillin G ในขนาด 2.4 ล้านยูนิตเข้ากล้ามเนื้อเพียงครั้งเดียว (แต่สำหรับในระยะที่ 2 แพทย์อาจฉีดซ้ำอีกครั้งในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา)
การรักษาโรคซิฟิลิส ระยะแฝง และระยะที่ 3
การรักษาโรคซิฟิลิสระยะนี้ แพทย์จะทำการฉีดยา Banzathine penicillin G ในขนาด 2.4 ล้านยูนิตเข้ากล้ามเนื้อ เป็นจำนวน 3 ครั้ง โดยฉีดห่างกันทุก 1 สัปดาห์
การป้องกันโรคซิฟิลิส
แนวทางการป้องกันโรคซิฟิลิสได้ดีที่สุด คือการลดความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อ โดยเฉพาะการได้รับเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ จึงควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคนี้ (ซึ่งเราอาจจะไม่ทราบ) จึงควรมีการป้องกันด้วยการสวมถุงยา ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง ซึ่งรวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ทางปากและทวารหนักด้วย
ส่วนหญิงมีครรภ์ควรได้รับการตรวจเลือดคัดกรองโรคซิฟิลิส ในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 8-12 ของการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการส่งผ่านเชื้อไปยังทารก และหากพบการติดเชื้อจะได้วางแผนการรักษาโรคได้เร็ว
โรคซิฟิลิสที่ผิวหนัง (Syphilis) คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
ผู้แต่ง : นพ.ชินดนัย วิกรัยพัฒน์ และ พญ.ปัทมา ปาประโคน พบ.วท.ม.ตจวิทยา (ผิวหนัง)
(หมอชิน-หมอหลิว) แพทย์ผิวหนัง ประจำแอลซีคลินิก
เอกสารอ้างอิง
- www.uptodate.com
- ปรียา กุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร. Dermatology 2020: พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพฯ: โฮลิสติก ,2555
- www.pobpad.com/ซิฟิลิส
- https://medthai.com/ซิฟิลิส
ฝากติดตามบทความดีๆเรื่อง โรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ สิว ฝ้า กระ ความงาม เลเซอร์ และการผ่าตัดเล็ก ได้ที่คอลัมน์บทความนะครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง
บทความด้านโรคติดเชื้อที่ผิวหนัง
- รักษา ซิฟิลิส ที่ผิวหนัง มือ-เท้าลอก ผื่นแดง ทำยังไง
- โรคงูสวัด (Herpes Zoster)
- รักษาโรคงูสวัดทำยังไง ยากิน ยาทา วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด
- เชื้อราที่ผิวหนัง คืออะไร รักษายังไง ยากิน ยาทา วิธีป้องกัน
- โรคกลาก เชื้อราที่ผิวหนัง อาการ สาเหตุ การวินิจฉัย และการรักษา
- โรคเกลื้อน (Pityriasis Versicolor) คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
- เริม โรคเริม (HERPES SIMPLEX) คืออะไร อาการ การรักษา
- เริมเรื้อรัง เป็นเริมบ่อยมาก (Recurrent Herpes Simplex) รักษายังไง
- ผื่นจากแมลงกัด ตุ่มแพ้แมลงกัด (Insect bite reaction)
- โรคตุ่มพุพอง (Impetigo) แผลพุพอง คืออะไร อาการ และการรักษา
- หูด (Wart) สาเหตุ อาการ และการรักษาโรคหูดที่ผิวหนัง
- การรักษาหูด ที่ผิวหนัง มีวิธีอะไรบ้าง ยาทา จี้เย็น เลเซอร์ และการผ่าตัด
- โรคอีสุกอีใส คืออะไร อาการ การรักษา (Chickenpox)
- โรคหิด (Scabies) คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
- Permethrin เพอร์เมทริน ครีม ยาทา กำจัด หิด เหา โลน คืออะไร ใช้ยังไง
- จี้เย็นกำจัดหูด จี้หูด (Cryotherapy) คืออะไร ใช้กำจัดหูดอะไรได้บ้าง
- บทความด้านโรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ
- บทความด้านความงาม สิว ฝ้า กระ เลเซอร์ โบท็อก ฟิลเลอร์ ร้อยไหม และการปรับรูปหน้า
- บทความผ่าตัดเล็ก กำจัดไฝ กระเนื้อ ติ่งเนื้อ ก้อนที่ผิวหนัง แผลเป็นนูน และวัคซีน
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
แอลซีคลินิกสาขาโคราช ตรงข้ามตลาดสวายเรียง จ.นครราชสีมา
โทร 044-263265 , 085-6566639 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic-korat
—
แอลซีคลินิกสาขาประโคนชัย ซอยบขส.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
โทร 044-163455 , 095-6026953 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic
—-
Facebook : LC Clinic
Website : www.lcclinics.com