แผลเป็นนูน คีลอยด์ Keloid
แผลเป็นนูน คีลอยด์ Keloid คืออะไร รักษายังไงดี
แผลเป็นนูน คีลอยด์ Keloid คืออะไร
แผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ (Keloid) คือ ภาวะที่มีเนื้อเยื่อพังผืดเจริญเกินปกติ เห็นเป็นลักษณะแผลเป็นนูนหนา ในบริเวณผิวหนังที่เคยเกิดบาดแผลมาก่อน โดยแผลเป็นชนิดนี้จะเกิดขึ้นหลังจากที่บาดแผลเหล่านั้นหายแล้ว โดยมีลักษณะเด่นคือ ขนาดของแผลเป็นนูนคีลอยด์ จะกว้างกว่าแผลเดิมตอนเริ่มต้น และมีแนวโน้มที่จะขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแผลเป็นนูนชนิดนี้อาจเกิดหลังจากแผลหายเป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือน แต่บางคนอาจนานเป็นปีก็ได้
แผลเป็นนูนคีลอยด์ พบได้ในใครบ้าง
- พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย
- มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก (โดยวัยที่พบได้บ่อยที่สุด คือวัยหนุ่ม-สาว)
- คนผิวคล้ำจะมีโอกาสเกิดแผลเป็นนูนได้บ่อย และรุนแรงกว่าคนผิวขาว
- ผู้ที่มีประวัติแผลเป็นนูนในครอบครัว จะมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้มากกว่าผู้ที่ไม่เคยมีประวัติ
ผิวส่วนไหนมีโอกาสเกิดแผลเป็นนูนได้ง่าย
ผิวหนังทุกส่วนมีโอกาสเกิดแผลเป็นนูนได้ทั้งหมด แต่บริเวณที่พบบ่อยได้แก่
- บริเวณหน้าอกส่วนบน
- บริเวณหัวไหล่
- บริเวณด้านหลังส่วนบน
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดแผลเป็นนูนได้ง่าย
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้การเกิดแผลเป็นนูนได้ง่าย ได้แก่
- กรรมพันธ์ุ โดยพบว่าคนที่มีคนในครอบครัวเป็นแผลเป็นนูน มีโอกาสเกิดแผลเป็นนูนได้ง่ายกว่าคนปกติ และในคนที่เคยเป็นแผลเป็นนูนมาก่อน มักเกิดแผลเป็นนูนได้ง่ายเมื่อมีบาดแผลต่างๆเกิดขึ้น
- เชื้อชาติ โดยพบว่าคนเชื้อชาติจีน และคนผิวดำ มีโอกาสเกิดแผลเป็นนูนได้ง่ายกว่าคนผิวขาว
- อายุ โดยอายุที่พบแผลเป็นนูนได้มากที่สุดคือ วัยหนุ่ม-สาว ส่วนในวัยเด็กและผู้สูงอายุ จะพบน้อยกว่า
- สาเหตุของแผล แผลจากไฟไหม้ และน้ำร้อนลวก มีโอกาสเกิดแผลเป็นนูนสูงกว่าบาดแผลชนิดอื่นๆ
- บาดแผลที่หายช้า บาดแผลที่หายช้าเกิน 3 สัปดาห์ขึ้นไป มีโอกาสเกิดแผลเป็นนูนได้สูงขึ้น
แผลเป็นนูนมีกี่แบบ
แผลเป็นนูน มีอยู่ 2 แบบ ได้แก่ แผลเป็นนูนชนิดลุกลามออกนอกตัวแผล หรือที่เรียกว่าแผลเป็นคีลอยด์ และแผลเป็นชนิดที่เกิดเฉพาะบนตัวแผล
1.แผลเป็นนูนชนิดลุกลามออกนอกตัวแผล หรือแผลเป็นคีลอยด์ (Keloid Scar)
แผลเป็นนูนชนิดนี้ ตัวแผลมักนูนเหนือผิวหนัง ตั้งแต่ 4 มิลลิเมตรขึ้นไป มักเกิดหลังจากที่แผลหายแล้วอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป แผลเป็นจะค่อยๆลุกลามออกไปนอกตัวแผล และขยายขนาดออกไปเรื่อยๆ โดยจะไม่ยุบหายไปเอง บริเวณที่พบบ่อย คือ หน้าอกส่วนบน หัวไหล่ หลัง ต้นแขน และใบหู
2.แผลเป็นนูนชนิดที่เกิดเฉพาะบนตัวแผล (Hypertrophic Scar)
แผลเป็นนูนชนิดนี้จะเกิดขึ้นเร็ว มักเกิดภายใน 1 เดือนหลังจากแผลหาย แผลเป็นชนิดนี้มักจะค่อยๆยุบตัวจนแบนราบลง เมื่อเวลาผ่านไปเป็นเดือนหรือเป็นปี และสามารถเกิดได้กับคนทุกเชื้อชาติ ทุกผิวสี บริเวณที่พบบ่อย แผลเป็นชนิดนี้สามารถพบได้ทุกส่วนของร่างกาย แต่จะพบได้บ่อยเมื่อเกิดแผลในบริเวณข้อพับ
แผลเป็นนูน คีลอยด์ Keloid รักษายังไง
วิธีการรักษาแผลเป็นนูนมีด้วยกันหลากหลายวิธี ขึ้นกับขนาดและตำแหน่งที่เป็น วิธีการรักษาที่ใช้ได้ผลดี ได้แก่
- การใช้ยาทารักษาแผลเป็น เช่น ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ ยาทาที่มีวิตามิน E หรือ A เป็นส่วนประกอบ และยาทาที่มีส่วนประกอบของซิลิโคน ใช้ในกรณีที่แผลเป็นนูนมีขนาดเล็กและพึ่งเป็นไม่นานนัก หรือใช้ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ
- การใช้แผ่นซิลิโคนเจลปิดบริเวณแผลเป็น ใช้สำหรับแผลเป็นที่เป็นใหม่ๆ เพื่อช่วยลดการขยายตัวของแผลเป็นนูน
- การฉีดยาเข้าที่บริเวณแผลเป็น ช่วยให้แผลเป็นยุบลง แต่อาจจะต้องฉีดหลายครั้ง เพื่อให้แผลเรียบและยุบลงดี
- การผ่าตัด เป็นการผ่าตัดเอาแผลเป็นเก่าออก แล้วทำการเย็บแผลใหม่อีกครั้ง ซึ่งใช้ได้กับแผลเป็นบางชนิดเท่านั้น และควรทำกับแผลเป็นที่สมบูรณ์เต็มที่แล้ว ไม่ใช่แผลเป็นใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่
ทั้งนี้การจะเลือกใช้วิธีรักษาอย่างไร แพทย์จะพิจารณาจากขนาดแผลเป็น บริเวณที่เกิดแผล และความรุนแรงของโรค นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาในเรื่องของความต้องการของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์ในแต่ละเคสอีกด้วย
แผลเป็นนูน คีลอยด์ Keloid รักษาได้หายขาดไหม
โรคแผลเป็นนูน โดยเฉพาะแผลเป็นนูนแบบคีลอยด์ เป็นโรคที่รักษาได้ยากมากๆ ต้องใช้วิธีการรักษาร่วมกันหลายๆวิธี และต้องใช้ระยะเวลานานในการรักษา เพื่อให้แผลเป็นนูนยุบลงดี และลดโอกาสในการกลับมาเป็นแผลเป็นนูนซ้ำให้ต่ำลง
วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นนูน
วิธีการป้องกันแผลเป็นนูนที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงการเกิดบาดแผล และแจ้งแพทย์ผู้เกี่ยวข้องเสมอ ถึงประวัติการเคยเป็นแผลเป็นนูนเมื่อต้องมีการผ่าตัด เพราะแพทย์อาจจะให้การรักษาเพื่อป้องกันการเกิดแผลเป็นนูนตั้งแต่ขณะผ่าตัด ด้วยเทคนิคการเย็บแผล การปิดแผล และการใช้ยาทาป้องกันแผลเป็น
เมื่อไหร่ควรมาพบแพทย์
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าแผลเป็นนูนเป็นโรคที่รักษายาก ดังนั้นเมื่อมีการผ่าตัดควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งก่อนที่จะผ่าตัด และเมื่อเกิดแผลเป็นนูนแล้ว ควรรีบพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆเพื่อทำการรักษา เพราะจะช่วยให้การรักษาได้ผลดี และแผลเป็นนูนยังมีขนาดเล็กอีกด้วย
แผลเป็นนูน คีลอยด์ Keloid คืออะไร รักษายังไงดี
ผู้แต่ง : นพ.ชินดนัย วิกรัยพัฒน์ – พญ.ปัทมา ปาประโคน พบ.วท.ม.ตจวิทยา (ผิวหนัง)
(หมอชิน-หมอหลิว) แพทย์ผิวหนัง ประจำแอลซีคลินิก
เอกสารอ้างอิง
- http://haamor.com/th/แผลเป็นนูน
- Juckett, G., and Hartman-Adams, H. (2009). Management of keloids and hypertrophic scars. Am Fam Physician, 80, 253-260.
- Keloid http://en.wikipedia.org/wiki/Keloid [2014,Aug23]
http://emedicine.medscape.com/article/876214-overview#showall [2014,Aug23]
http://emedicine.medscape.com/article/1057599-overview#showall [2014,Aug23] 3. Kokoska,M. et al. (2012). Hypertrophic scarring and keloid 4. Berman,B. et al.(2014). Keloid and hypertrophic scar
บทความที่เกี่ยวข้อง
บทความการรักษาแผลเป็น แผลเป็นนูน คีลอยด์
- คีลอยด์ที่หู คืออะไร ผ่าตัด รักษา คีลอยด์ ที่หู ทำยังไง
- รักษา แผลเป็นนูน (คีลอยด์) ฉีดยา ทายา เลเซอร์ และผ่าตัด
- จี้เย็นคีลอยด์ จี้เย็นแผลเป็นนูน Cryotherapy คืออะไร มีเทคนิคการทำยังไง การดูแลตัวเองหลังจี้เย็น
- รีวิวการผ่าตัด รักษาแผลเป็นนูน แผลเป็นคีลอยด์ (Keloid)
- ผ่าตัดคีลอยด์หู ทำยังไง การเตรียมตัวก่อนผ่า การดูแลแผลหลังผ่า เลเซอร์ ฉีดยา
- รอยแผลเป็น สีขาว คืออะไร รักษายังไง ยากิน ยาทา การฉายแสง
- รอยแผลเป็น สีดำ คืออะไร รักษายังไง ยากิน ยาทา ทรีทเมนท์ เลเซอร์
- การดูแลแผลหลังผ่าตัด เพื่อป้องกันและลดการเกิดแผลเป็น ทำยังไง
- บทความด้านโรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ
- บทความด้านความงาม สิว ฝ้า กระ เลเซอร์ โบท็อก ฟิลเลอร์ ร้อยไหม และการปรับรูปหน้า
- บทความผ่าตัดเล็ก กำจัดไฝ กระเนื้อ ติ่งเนื้อ ก้อนที่ผิวหนัง แผลเป็นนูน และวัคซีน
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
แอลซีคลินิกสาขาโคราช ตรงข้ามตลาดสวายเรียง จ.นครราชสีมา
โทร 044-263265 , 085-6566639 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic-korat
—
แอลซีคลินิกสาขาประโคนชัย ซอยบขส.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
โทร 044-163455 , 095-6026953 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic
—-
Facebook : LC Clinic
Website : www.lcclinics.com