ขนคุด (Keratosis Pilaris)
ขนคุด ผิวเป็นหนังไก่ (Keratosis Pilaris) คืออะไร รักษายังไงดีน่าา
ขนคุด ผิวเป็นหนังไก่ คืออะไร
ขนคุด (Keratosis Pilaris) คือ ภาวะทางผิวหนังที่เกิดจากการอุดตันบริเวณรูขุมขน มักมาด้วยอาการผิวแห้ง ผิวเป็นปื้นหยาบ และเป็นตุ่มนูนที่รูขุมขน เวลาสัมผัสไปที่บริเวณผิวหนังดังกล่าวจะให้ความรู้สึกสากๆ เป็นตุ่มนูนๆ บริเวณที่พบบ่อยคือ ต้นแขนส่วนบน ต้นขาส่วนบน ก้นหรือแก้ม โรคนี้มักไม่ทำให้รู้สึกคันหรือเจ็บ
ขนคุด เป็นโรคที่พบได้บ่อย พบได้ประมาณ 50-80% ของเด็กและวัยรุ่นทั่วโลก และประมาณ 40% ของผู้ใหญ่ทั่วโลกเช่นกัน ทั้งนี้พบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
สาเหตุที่ทำให้เกิดขนคุด
ขนคุด มีสาเหตุมาจากความผิดปกติในการสะสมของเคราติน (Keratin) โดยเคราตีนเป็นโปรตีนที่เซลล์ผิวหนังสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันการการติดเชื้อ หรือป้องกันสารอันตรายต่างๆที่ผิวหนัง ซึ่งการสะสมของเคราตินทำให้เกิดการอุดตันที่ทางออกของรูขุมขน จึงทำให้ขนงอกขึ้นมาไม่ได้เหมือนปกติ และกลายเป็นขนคุดอยู่ใต้ผิวหนัง เห็นเป็นตุ่มนูนอยู่ตามรูขุมขน และเมื่อเป็นเยอะๆจึงทำให้บางคนเห็นว่าเป็นเหมือนหนังไก่ที่ถูกถอนขน
ในปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบว่าอะไร เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสะสมของเคราติน แต่สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ หรือภาวะโรคทางผิวหนัง เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) นอกจากนี้ผู้ที่มีปัญหาผิวแห้ง มักมีโอกาสเกิดขนคุดได้มาก และอาจมีอาการแย่ลงเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว เพราะความชื้นในอากาศน้อย และมักทำให้ผิวแห้งกว่าปกติ
ขนคุด ผิวเป็นหนังไก่ (Keratosis Pilaris) คืออะไร รักษายังไงดีน่าา
อาการของโรคขนคุด
โรคขนคุด สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในเด็กเล็กและวัยรุ่น ซึ่งทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
- มีตุ่มนูนเล็กๆ ขึ้นตามผิวหนัง
- ผื่นมักเกิดขึ้นที่ต้นแขน-ต้นขาส่วนบน แก้ม และก้น
- มักไม่มีอาการอาการเจ็บหรือคัน
- สีที่พบมีได้ตั้งแต่สีเดียวกับผิวปกติ สีขาว สีแดง ไปจนถึงสีดำได้ในคนผิวดำ
- บริเวณผิวหนังที่เป็นตุ่มขนคุด จะมีผิวที่แห้งและหยาบกร้าน
- เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว โดยเฉพาะเมื่อมีความชื้นในอากาศน้อย มักจะทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม
- เมื่อลูบสัมผัสที่ผิวหนังจะรู้สึกผิวแห้งและมีตุ่มนูนๆ คล้ายกระดาษทราย
ใครบ้างที่มีโอกาสเกิดขนคุด
ขนคุด สามารถเกิดได้ในคนทุกเพศ ทุกวัย และทุกเชื้อชาติ อาจเป็นโรคเดียว หรือพบร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis), โรคผิวหนังคล้ายเกล็ดปลา/ผิวแห้งมากจนตกสะเก็ด (Ichthyosis) โดยจะพบขนคุดได้บ่อยในผู้ที่มีผิวแห้งมากกว่าผิวมัน และอาการจะเป็นมากขึ้นในฤดูหนาวที่มีอาการเย็นและแห้งกว่าปกติ
การวินิจฉัยโรคขนคุด
การตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคขนคุดหรือไม่นั้น สามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติ และตรวจร่างกายของผิวหนังซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว ไม่จำเป็นต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติ หรือการตัดชิ้นเนื้อ แต่ถ้ามีข้อสงสัยต้องวินิจฉัยแยกจากโรคผิวหนังอื่น ก็อาจจำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติม แต่กรณีเช่นนี้พบได้ไม่บ่อยนัก
หากมีอาการขนคุด หรือสงสัยว่าเป็นโรคขนคุด สามารถปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาได้
การรักษา ขนคุด ผิวเป็นหนังไก่
โรคขนคุด ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาให้หายขาด โดยตัวโรคมีโอกาสที่จะดีขึ้นได้เมื่ออายุมากขึ้น ในส่วนของการรักษาเป็นการรักษาเพื่อให้ผื่นยุบลง โดยหลักการคือการใช้ยาเพื่อให้โปรตีนเคอราตินที่อุดตันรูขุมขนหลุดออก ทำให้ผิวกลับมาเรียบเนียนใกล้เคียงกับปกติ ทั้งนี้ผลการรักษาจะเริ่มสังเกตเห็นได้หลังการรักษาตั้งแต่ประมาณ 3-4 สัปดาห์จนถึง 2-3 เดือน
การรักษาขนคุด
มีวิธีการรักษาโดยแบ่งตามความรุนแรงของโรคขนคุดได้ดังนี้
การรักษาขนคุดชนิดรุนแรงน้อย (อาการไม่มาก)
ในรายที่มีอาการขนคุดไม่มาก การรักษาโดยหลักคือการให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง ได้แก่
- การใช้สบู่อ่อนๆ สำหรับในรายที่ผิวแห้งหรือผิวแพ้ง่าย
- งดอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน
- งดการขัด (Scrub) ผิว เนื่องจากจะทำให้ผิวแห้ง และระคายเคืองมากขึ้น
- ทาครีมบำรุงผิวให้ความชุ่มชื้นหลังอาบน้ำเช้า-เย็น และทาได้บ่อยขึ้นอีกบริเวณผิวที่แห้ง โดยครีมควรมีส่วนประกอบของสารให้ความชุ่มชื้นและผลัดเซลล์ผิวอุดตัน (Keratolytic)
การรักษาขนคุดชนิดรุนแรงมาก (อาการมาก)
ในรายที่มีอาการขนคุดมาก แพทย์จะเริ่มให้มีการใช้ยาทา ร่วมกับการปฏิบัติตนเหมือนการรักษาขนคุดชนิดรุนแรงน้อย ยาที่ใช้ในปัจจุบันได้แก่
- ยาทาอนุพันธุ์ของวิตามิน-เอ (Topical Isotretinoin) ช่วยในการผลัดโปรตีนเคอราตินให้อุดตันออก โดยใช้ทาก่อนนอนวันละครั้ง ทั้งนี้ให้เริ่มต้นจากยาที่มีความเข้มข้นต่ำก่อน
- ยาทาฆ่าเชื้อ ใช้ในช่วงที่มีการอักเสบ และติดเชื้อที่บริเวณผื่นขนคุด
- ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ ใช้ในช่วงที่ตุ่มของโรคขนคุดมีอาการแดง คัน และอักเสบ โดยให้ใช้ยากลุ่มนี้เพียงช่วงเวลาสั้นๆเท่านั้น
- การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การทำทรีทเมนท์ด้วย AHA, การใช้ยารับประทาน, และการทำเลเซอร์กำจัดขน
ผลข้างเคียงจากโรคขนคุด
ขนคุด ไม่ได้ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย แต่อาจทำให้เกิดความรำคาญ และความวิตกกังวลกับผิวหนังที่ไม่สวยงาม แต่ก็พบว่าผู้ที่มีอาการขนคุดบางราย มักจะมีโรคหรือภาวะทางผิวหนังผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง รวมไปถึงผู้ที่มีสภาพผิวแห้งก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขนคุดได้มากขึ้น
โรคขนคุดหายขาดไหม
โดยธรรมชาติของขนคุด ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่หายขาด แต่การรักษาสามารถทำให้ตุ่มขนคุดยุบลง และผิวหนังเรียบเนียนใกล้เคียงกับผิวปกติได้ และในบางรายอาการจะดีขึ้น หรือหายเองได้เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น
โดยขนคุด มักจะมีอาการกำเริบมากขึ้นในฤดูหนาว หรือในภาวะที่ทำให้เกิดมีผิวแห้ง
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคขนคุด
ในปัจจุบันแม้จะยังไม่สามารถป้องกันการเกิดขนคุดได้ แต่สามารถทำให้อาการดีขึ้นได้ ด้วยการดูแลผิวไม่ให้แห้ง และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว ด้วยวิธีการดูแลตัวเองดังต่อไปนี้
- ไม่ควรเกาบริเวณตุ่มรูขุมขน หรือขัดถูผิวหนังบริเวณที่เป็นขนคุดรุนแรงเกินไป
- เวลาอาบน้ำควรใช้น้ำที่อุณหภูมิปกติ หรือถ้าจะใช้น้ำอุ่นควรใช้ที่อุณหภูมิไม่สูงจนเกินไป และเมื่อต้องอาบน้ำ แช่น้ำ หรือว่ายน้ำ ควรจำกัดเวลาอยู่ในน้ำไม่ให้นานจนเกินไป ประมาณไม่เกิน 10 นาที เพราะเมื่ออาบน้ำร้อนหรืออยู่ในน้ำเป็นเวลานานจะทำให้ไขมันที่ผิวหนังถูกกำจัดไป และทำให้ผิวหนังแห้งมากขึ้น
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้สบู่อาบน้ำที่แรงเกินไป เพราะทำให้ผิวแห้งมากขึ้น
- ใช้ครีมบำรุงผิวที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวเป็นประจำ โดยหลังจากอาบน้ำในขณะที่ผิวกำลังหมาดๆ สามารถใช้ครีมหรือโลชั่นที่ให้ความชุ่มชื้น ทาผิวได้ทันที
- หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่คับหรือเข้ารูปจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดการเสียดสีที่ผิวหนัง เกิดการระคายเคืองต่อผิวได้
ขนคุด ผิวเป็นหนังไก่ (Keratosis Pilaris) คืออะไร รักษายังไงดี
ผู้แต่ง : นพ.ชินดนัย วิกรัยพัฒน์ และ พญ.ปัทมา ปาประโคน พบ.วท.ม.ตจวิทยา (ผิวหนัง)
(หมอชิน-หมอหลิว) แพทย์ผิวหนัง ประจำแอลซีคลินิก
เอกสารอ้างอิง
- ปรียา กุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร. Dermatology 2020: พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพฯ: โฮลิสติก ,2555
- http://haamor.com/th/โรคขนคุด
- https://www.pobpad.com/ขนคุด
ฝากติดตามบทความดีๆเรื่อง โรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ ความงาม เลเซอร์ และการผ่าตัดเล็ก ได้ที่คอลัมน์บทความนะครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง
- รักษา ขนคุด ทำยังไงดี ยากิน ยาทา ทรีทเมนท์ เลเซอร์
- โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) คืออะไร สาเหตุ อาการ และการรักษา
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ (Atopic Dermatitis)
- สาเหตุ 9 อย่างที่ก่อให้เกิดสิว ที่พบได้บ่อยมากๆ
- สิวที่หน้า ฉบับจัดเต็ม โดยทีมแพทย์ด้านผิวหนัง
- สิวที่ตัว สิวที่หลัง เกิดจากอะไร รักษายังไงดีน่า
- สิวข้าวสาร (Milia) การรักษาสิวข้าวสาร กดออก ยาทา เลเซอร์
- ข้อควรรู้เกี่ยวกับสิว ข้อควรรู้ในการดูแลตัวเองเมื่อเป็น… สิว
- รักษาสิวที่หลัง สิวที่ลำตัว ทำยังไง ยากิน ยาทา สบู่ ทรีทเมนท์ เลเซอร์
- บทความด้านโรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ
- บทความด้านความงาม สิว ฝ้า กระ เลเซอร์ โบท็อก ฟิลเลอร์ ร้อยไหม และการปรับรูปหน้า
- บทความผ่าตัดเล็ก กำจัดไฝ กระเนื้อ ติ่งเนื้อ ก้อนที่ผิวหนัง แผลเป็นนูน และวัคซีน
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
แอลซีคลินิกสาขาโคราช ตรงข้ามตลาดสวายเรียง จ.นครราชสีมา
โทร 044-263265 , 085-6566639 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic-korat
—
แอลซีคลินิกสาขาประโคนชัย ซอยบขส.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
โทร 044-163455 , 095-6026953 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic
—-
Facebook : LC Clinic
Website : www.lcclinics.com