โรคเซบเดิร์ม Seborrheic Dermatitis
โรคเซบเดิร์ม Seborrheic Dermatitis ผิวหนังอักเสบ ที่ร่องจมูก หู หนังศีรษะ
โรคเซบเดิร์ม Seborrheic Dermatitis คืออะไร
โรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) คือ โรคผิวหนังอักเสบ ที่มักมีอาการรังแค คันตามหนังศีรษะ ร่องจมูก และตกสะเก็ดเห็นเป็นขุยๆ พบประมาณ 3-5% ของประชากร
สาเหตุของโรคเซบเดิร์ม
ในปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคเซบเดิร์มได้อย่างแน่ชัด แต่สันนิษฐานได้ว่าอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยประกอบกัน ได้แก่
- พันธุกรรม
- ความเครียด
- เชื้อราที่อาศัยอยู่บนผิวหนัง
- สภาพอากาศที่เย็นและแห้ง
- ภาวะแทรกซ้อนจากโรคบางชนิด หรือการใช้ยาบางชนิด
นอกจากนี้ยังมีโรค หรือปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง ที่มีผลต่อการเกิดโรคเซบเดิร์มมากขึ้น ได้แก่
- โรคพาร์กินสัน และภาวะซึมเศร้า
- ผู้ที่มีปัญหาระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่อ่อนแอ เช่น ผู้ที่รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยมะเร็ง เป็นต้น
- โรคตับอ่อนอักเสบ พิษสุราเรื้อรัง หรือการติดสุรา
- โรคเบาหวาน
- โรคลมชัก
- โรคผิวหนังอักเสบโรซาเซีย โรคสะเก็ดเงิน
- สิว
- การเกา ครูดข่วน หรือการได้รับบาดเจ็บของผิวหน้า
อย่างไรก็ตาม สาเหตุของการเกิดโรคเซบเดิมไม่ได้มาจากการไม่รักษาความสะอาด หรือภาวะภูมิแพ้แต่อย่างใด
โรคเซบเดิร์ม พบบ่อยในช่วงวัยไหน
โรคเซบเดิร์ม มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และพบได้บ่อยในช่วง 2 วัย คือ
- เด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน
- ผู้ใหญ่ในช่วงอายุ 40-70 ปี
อาการของโรคเซบเดิร์ม
อาการของโรคเซบเดิร์มมีได้ตั้งแต่เป็นน้อยๆ เช่น รังแค ไปจนถึงอาการรุนแรงที่มีผื่นผิวหนังอักเสบทั่วตัว โดยอาการที่พบบ่อยได้แก่
อาการของโรคเซบเดิร์มในเด็กเล็ก
ในทารกอายุต่ำกว่า 3 เดือน มักจะมาพบแพทย์ ด้วยอาการเกล็ดสีเหลืองหรือน้ำตาลบนหนังศีรษะ มีผื่นแดงเป็นขุยที่ใบหน้า โรคนี้มักจะหายไปก่อนอายุครบ 1 ปี แต่อาจกลับมาเป็นใหม่ได้อีกครั้งในช่วงวัยรุ่น ทั้งนี้โรคเซบเดิมในเด็กอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผื่นผ้าอ้อม หรือผื่นแพ้ต่างๆ
อาการของโรคเซบเดิร์มในผู้ใหญ่
สามารถแบ่งอาการของโรคเซบเดิร์ม ตามอวัยวะต่างๆ ได้ดังนี้
- หนังศีรษะ มักมาด้วยอาการคัน มีผื่นแดงได้บ้าง มีสะเก็ดเป็นรังแคหนา หรือสะเก็ดสีเหลืองๆ ซึ่งผื่นแดงมีสะเก็ดพบได้บ่อยบริเวณไรผม แต่มักจะไม่ลามเกินไปกว่าไรผม ต่างจากโรคสะเก็ดเงินที่ผื่นแดงหนารวมถึงสะเก็ด สามารถลามเกินไรผมออกมาที่บริเวณหน้าผากและหนังศีรษะส่วนอื่นได้
- ใบหู บริเวณหลังใบหู มักพบเป็น ผื่นแดง คัน ภายในรูหูด้านนอก และด้านหลังใบหู ผื่นแดงมักมีลักษณะเป็นสะเก็ดมันๆสีเหลือง
- ใบหน้าและลำตัว มักพบในบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่หนาแน่น คือ หัวคิ้ว ระหว่างคิ้วทั้ง 2 ข้าง ซอกจมูก อก ไหล่ ลำตัวส่วนบน ซึ่งจะพบเป็นลักษณะผื่นแดง ขอบชัด มีสะเก็ดเป็นมันๆสีออกเหลือง
- บริเวณอื่นๆ บริเวณอื่นที่สามารถพบได้ แต่ไม่บ่อยนัก เช่น สะดือ รักแร้ และขาหนีบ เป็นต้น
ทั้งนี้อาการของโรคมักจะพบเป็นๆหายๆ ขึ้นกับปัจจัยกระตุ้นต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว
การวินิจฉัยโรคเซบเดิร์ม
โดยทั่วไปแพทย์จะใช้การซักประวัติ ตรวจร่างกายดูลักษณะของผื่นผิวหนัง นอกจากนี้ยังอาจมีการขูดเอาตัวอย่างเซลล์ผิวหนังบริเวณดังกล่าว ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เกิดจากโรคชนิดอื่นที่อาจมีอาการคล้ายกันได้ เช่น
- โรคสะเก็ดเงิน มักทำให้เกิดรังแคและผิวหนังแดง ปกคลุมด้วยสะเก็ดเล็กๆได้เช่นกัน แต่โรคนี้จะมีความรุนแรงมากกว่า โดยจะมีผื่นแดงเป็นวงกว้างกว่า เกิดสะเก็ดได้มากกว่า และสะเก็ดมักจะมีสีขาวออกเงิน
- โรคผื่นผิวหนังอักเสบ โรคที่จะทำให้เกิดอาการผื่นแดง คัน และอักเสบของผิวหนังได้เช่นกัน มักเกิดบริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา หรือที่ด้านหน้าของลำคอ
- โรคโรซาเซีย โรคผิวหนังอักเสบชนิดนี้ โดยมากจะเกิดขึ้นบนใบหน้า และปรากฏเป็นสะเก็ดเล็กๆ
โรคเซบเดิร์ม Seborrheic Dermatitis รักษายังไง
การรักษาโรคเซบเดิร์ม ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่หายขาด โรคนี้หลังการรักษาสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ ส่วนความถี่ในการกลับมาเป็นซ้ำขึ้นกับหลายๆปัจจัยประกอบกัน ยาที่มีการใช้ในปัจจุบันได้แก่
- กลุ่มยาสระผม เช่น แชมพูที่มีส่วนผสมของ Selenium sulfide, Ketoconazole Shampoo, Tar Shampoo, และ Zinc ยาสระผมในกลุ่มนี้ ใช้รักษาอาการเซบเดิร์มที่หนังศีรษะ
- ยาทาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ใช้เพื่อลดการอักเสบของผิวหนัง ยาในกลุ่มนี้มีด้วยกันหลายตัว การเลือกใช้ขึ้นกับความรุนแรงของโรค และผิวหนังบริเวณที่ทายา สามารถใช้ทาได้ทั้งที่ใบหน้า และหนังศีรษะ
- ครีมบำรุงผิว หากมีผิวแห้งสามารถใช้ครีมบำรุงผิว Mineral oil และพวกมอสเจอไรเซอร์ เพื่อให้ความชุ่มชื้นได้
- ยาทาลดการอักเสบกลุ่มอื่นๆที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ยาทาในกลุ่ม Calcineurin inhibitor ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ลดการอักเสบของผิวหนัง สามารถใช้ทดแทนยาทาเสตียรอยด์ เพื่อลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาทาสเตียรอยด์เป็นเวลานานๆ
โรคเซบเดิร์ม Seborrheic Dermatitis ผิวหนังอักเสบ ที่ร่องจมูก หู หนังศีรษะ
นอกจากนี้ยังมีการใช้ยารับประทาน สำหรับผู้ป่วยเซบเดิร์มที่มีอาการรุนแรง โดยการใช้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น ตัวอย่างยาที่มีการใช้ ได้แก่
- ยาฆ่าเชื้อราชนิดรับประทาน ยาในกลุ่มนี้มีการใช้พบว่าได้ผลดีในเซบเดิร์ม ขนาดของยา และระยะเวลาการรักษาจะแตกต่างกันขึ้นกับชนิดของยา ผลข้างเคียงที่ต้องระวัง ได้แก่ ภาวะตับอักเสบ จึงควรงดดื่มสุราระหว่างที่ทานยากลุ่มนี้
- ยากลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอ ยาในกลุ่มนี้ช่วยลดการทำงานของต่อมไขมัน ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ ปากแห้ง ผิวแห้ง และหญิงวัยเจริญพันธุ์จำเป็นต้องได้รับการคุมกำเนิดระหว่างใช้ยา และหลังหยุดยา 1 เดือนอย่างเคร่งครัด
- การรักษาโดยการฉายแสง เช่น การฉายแสงอาทิตย์เทียม (Narrow band ultraviolet B)
การดูแลตัวเอง สำหรับผู้ป่วยโรคเซบเดิร์ม
- รักษาความสะอาดบริเวณที่เป็นอยู่เสมอ โดยการล้างด้วยสบู่อ่อนๆและน้ำเปล่า
- ทำความสะอาดร่างกาย และหนังศีรษะเป็นประจำ
- ใช้ครีมบำรุงและผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคือง และผื่นเป็นมากขึ้นได้
- โกนหนวดเคราให้สะอาด เนื่องจากหนวดและเคราจะยิ่งทำให้ผิวหนังบริเวณที่เป็นเซบเดิมแย่ลงได้
- สวมใส่เสื้อผ้าเนื้อเรียบลื่น เพื่อป้องกันการระคายเคือง
- เลี่ยงการขีดข่วน หรือการเกาซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองผิว และติดเชื้อตามมาได้ หากมีอาการคัน สามารถใช้ครีมสเตียรอยด์ชนิดอ่อนๆ ทาบรรเทาอาการคันได้
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเซบเดิร์ม
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากโรคเซบเดิร์มนั้นพบได้น้อยมาก ส่วนใหญ่มักเกิดจากการวินิจฉัยคลาดเคลื่อน หรือการรักษาที่ไม่ถูกวิธี โรคเซบเดิร์มที่เกิดบริเวณใบหน้า และหนังศีรษะบางครั้งอาจคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้อราที่ผิวหนัง ซึ่งหากรักษาโดยใช้ยาลดการอักเสบ หรือยาทาสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นการรักษาที่ไม่ถูกวิธีก็อาจทำให้มีอาการแย่ลงได้ นอกจากนี้การใช้ยาทาสเตียรอยด์นี้ในปริมาณมาก และเป็นเวลานานๆ ยังสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังในลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ และทำให้ผิวบางลงได้
การป้องกันโรคเซบเดิร์ม
โรคเซบเดิร์มนั้นไม่อาจป้องกันการเกิดของโรคได้ โดยตัวโรคมักจะมีลักษณะเป็นๆหายๆ ตามปัจจัยที่มากระตุ้น แต่มีวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรคซ้ำ หรือบรรเทาอาการของโรคได้ โดยการปฏิบัติดังนี้ หลังจากอาการของโรคหายดีแล้ว
- โรคเซบเดิร์มบริเวณหนังศีรษะ การป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกสามารถใช้แชมพูต้านเชื้อรา หรือทาร์แชมพู 1-2 ครั้ง/สัปดาห์ หมักทิ้งไว้บนหนังศีรษะ 5 นาทีก่อนจะล้างออก
- เซบเดิมตามร่างกาย ควรหมั่นทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่อ่อนๆ และน้ำเปล่าเป็นประจำทุกวัน เพื่อไม่ให้เกิดคราบมันบนผิวหนัง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งของการกระตุ้นโรคเซบเดิร์ม และช่วยลดจำนวนของเชื้อราบนผิวหนัง ทั้งนี้สามารถพูดคุยสอบถามแพทย์ถึงวิธีการป้องกันที่เหมาะสมกับตนเองเพิ่มเติมได้
โรคเซบเดิร์ม Seborrheic Dermatitis ผิวหนังอักเสบ ที่ร่องจมูก หู หนังศีรษะ
ผู้แต่ง : นพ.ชินดนัย วิกรัยพัฒน์ และ พญ.ปัทมา ปาประโคน พบ.วท.ม.ตจวิทยา (ผิวหนัง)
แพทย์ด้านผิวหนัง
เอกสารอ้างอิง
ฝากติดตามบทความดีๆเรื่อง โรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ ความงาม เลเซอร์ และการผ่าตัดเล็ก ได้ที่คอลัมน์บทความนะครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคผิวหนังที่พบบ่อยในเด็ก
- โรคสะเก็ดเงิน คืออะไร สาเหตุ อาการ และการดูแลตัวเอง
- โรคกลาก เชื้อราที่ผิวหนัง อาการ สาเหตุ และการรักษา
- โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) คืออะไร สาเหตุ อาการ และการรักษา
- โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง Lichen Simplex Chronicus คืออะไร อาการ การรักษา
- โรคตุ่มน้ำใสที่มือ ผิวหนังอักเสบ (Dyshidrosis) คืออะไร รักษายังไงดี
- รักษาสะเก็ดเงิน ทำยังไง ยากิน ยาทา ฉายแสงอาทิตย์เทียม
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ (Atopic Dermatitis)
- โรคตุ่มนูนคันเรื้อรัง (Prurigo nodularis) คืออะไร รักษายังไงดี
- โรคเซบเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) ผิวหนังอักเสบ ที่ร่องจมูก หู หนังศีรษะ
- โรคผื่นขุยกุหลาบ โรคกลีบกุหลาบ สาเหตุ อาการ และการรักษา
- ผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก (Paederus dermatitis) รักษายังไงดี
- รอยดำหลังการอักเสบ (PIH) เกิดจากอะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
- บทความด้านโรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ
- บทความด้านความงาม สิว ฝ้า กระ เลเซอร์ โบท็อก ฟิลเลอร์ ร้อยไหม และการปรับรูปหน้า
- บทความผ่าตัดเล็ก กำจัดไฝ กระเนื้อ ติ่งเนื้อ ก้อนที่ผิวหนัง แผลเป็นนูน และวัคซีน
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
แอลซีคลินิกสาขาโคราช ตรงข้ามตลาดสวายเรียง จ.นครราชสีมา
โทร 044-263265 , 085-6566639 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic-korat
—
แอลซีคลินิกสาขาประโคนชัย ซอยบขส.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
โทร 044-163455 , 095-6026953 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic
—-
Facebook : LC Clinic
Website : www.lcclinics.com