โรคหิด (Scabies)
โรคหิด (Scabies) คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
โรคหิด (Scabies) คืออะไร
หิด คือ โรคติดเชื้อที่ผิวหนัง เกิดจากเชื้อไรชนิดหนึ่ง (Scabies mite) ที่อาศัยอยู่บนผิวหนังของมนุษย์ โดยเชื้อไรนี้จะดำรงชีวิตอยู่บนผิวหนังของคน และกินเซลล์ผิวหนังเป็นอาหาร และเป็นตัวก่อโรค โรคหิดนี้สามารถพบได้ทั่วโลก ทุกเชื้อชาติ และทุกวัย โดยจะมาด้วยอาการมีลักษณะตุ่มแดงคัน หรือตุ่มน้ำใส และมีอาการคันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
สาเหตุของโรคหิด
โรคหิดเกิดจากการติดเชื้อหิดหรือตัวหิด (Sarcoptes scabiei) ซึ่งจัดเป็นปรสิตชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่บนร่างกายคน โดยดำรงชีวิตอยู่บนผิวหนังของคน และกินเซลล์ผิวหนังเป็นอาหาร สามารถมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายของคนที่อุณหภูมิห้องได้ประมาณ 2-3 วัน และสามารถติดต่อได้ง่าย โดยการสัมผัสหรือใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ที่นอน แม้กระทั่งฝาโถส้วมก็สามารถติดต่อได้ ในบางรายอาจติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดตุ่มคันบริเวณอวัยวะเพศ
อาการของโรคหิด
หลังจากติดเชื้อหิดแล้ว ในระยะเบื้องต้นจะยังไม่แสดงอาการ โดยอาจใช้เวลานาน 2-6 สัปดาห์ จึงจะเริ่มมีอาการที่ผิวหนัง ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นเป็นปฏิกิริยาที่สร้างขึ้นโดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ต่อต้านสิ่งแปลกปลอม แต่ในผู้ที่เคยติดเชื้อหิดนี้มาก่อน มักจะปรากฏอาการให้เห็นภายใน 1-2 วัน เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันจดจำการตอบสนองต่อการติดเชื้อโรคหิดไว้แล้ว
อาการที่พบได้บ่อยของโรคหิด
- อาการคันที่ผิวหนังรุนแรง โดยเฉพาะในเวลากลางคืนและหลังอาบน้ำอุ่นจะคันมากขึ้น
- ลักษณะผื่นที่ผิวหนัง จะเป็นผื่นแดงและตุ่มแดงคันขึ้นเป็นจุด โดยมักจะเริ่มจากคันที่หนึ่งแล้วกระจายไปบริเวณอื่นๆ
- นอกจากนี้ยังอาจสังเกตเห็นรอยโพรงของตัวหิด ปรากฏเป็นรอยหรือเส้นเล็กๆบนผิวหนังประมาณ 2-10 มิลลิเมตร โดยมักพบบริเวณง่ามนิ้วมือ ข้อมือด้านใน และฝ่ามือ แต่ส่วนอื่นๆของร่างกายก็อาจพบได้เช่นกัน
- ตำแหน่งที่พบผื่นได้บ่อย ในทารกและเด็กเล็กมักจะพบตุ่มและผื่นขึ้นบริเวณศีรษะ คอ ใบหน้า และฝ่าเท้า ส่วนในเด็กโตและผู้ใหญ่มักจะเกิดบริเวณข้อมือ ง่ามนิ้วมือ ง่ามนิ้วเท้า ข้อศอก เอว บั้นท้าย รักแร้ ในผู้หญิงอาจพบที่รอบหัวนม และในผู้ชายอาจพบที่อวัยวะเพศชายได้
การติดต่อของโรคหิด
โรคหิดสามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสตัว แต่ต้องสัมผัสเป็นระยะเวลานานประมาณ 15-20 นาที ส่วนการจับมือ การกอด หรือการสัมผัสร่างกายกันช่วงสั้นๆ นั้นมีโอกาสทำให้ติดเชื้อหิดได้น้อยมาก นอกจากนี้การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ป่วยเป็นโรคนี้ก็ทำให้ติดเชื้อหิดได้เช่นกัน
ส่วนการใส่เสื้อผ้า ใช้ผ้าเช็ดตัว หรือนอนร่วมเตียงเดียวกับผู้ป่วยโรคหิด ก็มีโอกาสติดเชื้อได้ ถึงจะน้อยกว่า โดยอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ใช้ของเหล่านี้ร่วมกันทันที เนื่องจากตัวหิดจะสามารถอยู่รอดได้ถึง 24-36 ชั่วโมงหากหลุดร่วงจากผิวหนังมนุษย์ จึงอาจปนเปื้อนไปกับผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า หรือที่นอน และแพร่กระจายต่อไปได้
โรคหิดนี้สามารถแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว เพราะผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการจนกว่าจะผ่านไป 2-3 สัปดาห์ ทำให้ผู้คนรอบข้างไม่อาจระวังหรือป้องกันได้ทันท่วงที โดยมักติดกันมาจากคนในครอบครัว เพื่อนที่โรงเรียน หรือคู่นอนที่ป่วยเป็นโรคนี้ รวมถึงสถานที่ที่อยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิด เช่น บ้านเลี้ยงเด็ก โรงเรียน ทีมกีฬา และห้องขัง ก็เสี่ยงต่อการติดโรคนี้ได้ง่าย
การวินิจฉัยโรคหิด
โดยทั่วไปแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคหิดได้จาก การซักประวัติและการตรวจร่างกายดูผื่นที่ผิวหนัง ดูร่องรอยโพรงของตัวหิด ในกรณีที่ผื่นมีลักษณะไม่ชัดเจน แพทย์อาจส่งตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ โดยขูดเอาเนื้อเยื่อบริเวณที่มีตุ่มคันหรือสงสัยว่ามีตัวหิด แล้วนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ว่ามีไข่หรือตัวหิดหรือไม่
โรคหิด (Scabies) รักษายังไง
หลักในการรักษาโรคหิด คือ ต้องรักษาผู้ที่เป็นหิดและคนรอบข้างที่อยู่ใกล้ชิด ซึ่งมีโอกาสติดเชื้อไปพร้อมๆกัน (แม้ว่าจะยังไม่มีอาการก็ตาม) นอกจากนี้ยังต้องกำจัดหิดที่อาจหลงเหลืออยู่ตามสิ่งแวดล้อม เช่น เสื้อผ้า ที่นอน เพื่อป้องกันการติดเชื้อหิดไปสู่ผู้อื่น และป้องกันการกลับมาติดเชื้อซ้ำ
ยาที่ใช้ในการรักษาโรคหิด
- Permethrin Cream ให้ใช้ทาตั้งแต่คอลงมาทิ้งไว้ประมาณ 8 ชั่วโมงแล้วล้างออก โดยให้ทาอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ติดกัน 2 อาทิตย์ ยาชนิดนี้มีฤทธิ์ฆ่าทั้งตัวหิดและไข่หิด แต่ยานี้ไม่ควรใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
- Benzyl Benzoate มี 2 ขนาด คือ 12.5% สำหรับเด็ก และ 25% สำหรับผู้ใหญ่ ให้ทายาให้ทั่วทุกส่วนของร่างกายนับตั้งแต่คอลงมาโดยตลอด รวมทั้งผิวหนังส่วนที่ยังปกติด้วย พอครบ 24 ชั่วโมงก็ให้ทาซ้ำอีกครั้ง แต่ถ้ายังไม่หายขาดให้ทำซ้ำอีกครั้งในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา
- Lindane lotion ให้ใช้ทาตั้งแต่คอลงมาทิ้งไว้ประมาณ 8 ชั่วโมงแล้วล้างออก แต่เนื่องจากยาชนิดนี้มีผลข้างเคียงมาก จึงไม่แนะนำให้ใช้เป็นยาตัวแรก จะใช้ในกรณีที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล และไม่ควรใช้ยานี้ในเด็กเล็ก สตรีมีครรภ์หรือกำลังให้นม คนที่มีประวัติชัก หรือมีโรคผิวหนัง
- Sulfur ขี้ผึ้งซัลเฟอร์ ยาชนิดนี้จะมีกลิ่นฉุน ไม่ควรนำมาทาบริเวณใบหน้า
- Ivermectin เป็นยากินรักษาโรคหิด ใช้ในกรณีที่ใช้ยาทาแล้วไม่ได้ผล หรือโรคหิดมีการแพร่กระจายลุกลามทั่วร่างกายจำนวนมาก ยานี้ควรสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น
ยาอื่นที่ใช้ร่วมกันในการรักษาโรคหิด
- ยากินแก้แพ้ ใช้เพื่อช่วยลดอาการคันที่เกิดจากโรคหิด
- ครีมสเตียรอยด์อ่อนๆ ใช้เพื่อช่วยลดอาการบวม คัน และลดการอักเสบ
- ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ มีทั้งยากิน ยาทา และยาฉีด ใช้ในกรณีที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนร่วมด้วย
การรักษาโรคหิดในช่วงสัปดาห์แรก อาจดูเหมือนอาการยังไม่ดีขึ้น แต่หากผ่านพ้นช่วงสัปดาห์แรกไปแล้ว จะสังเกตได้ว่าอาการคันจะลดลง และจะค่อยๆหายดีเมื่อการรักษาผ่านพ้น 4 สัปดาห์
การดูแลตัวเองสำหรับโรคหิด
- การรักษาโรคหิดควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะต้องมีการใช้ยากิน ยาทา และต้องนัดกลับมาประเมินซ้ำว่ากำจัดเชื้อหิดได้หมดหรือยัง
- ผู้ป่วยควรแยกตัวเองออกมาจากคนใกล้ชิด ไม่ให้ไปสัมผัสกับผู้อื่นเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังจากได้รับยารักษา (รวมถึงงดมีเพศสัมพันธ์ด้วย) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปให้ผู้อื่น
- ควรรักษาคนในบ้านและคนใกล้ชิด ที่เป็นโรคหิดหรือสงสัยว่าติดเชื้อหิดไปพร้อมๆกัน เช่น คนที่นอนเตียงเดียวกัน หรืออาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกันกับผู้ป่วย เป็นต้น
- นำเสื้อผ้า ที่นอน เครื่องใช้ของผู้ป่วยแยกจากคนอื่น แล้วนำไปซักให้สะอาดและแช่น้ำร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส ผึ่งแดดให้แห้ง ส่วนสิ่งของที่นำมาซักล้างไม่ได้ แนะนำให้ใช้วิธีใส่ถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้มิดชิด ทิ้งไว้ประมาณ 3 วันขึ้นไป เพื่อให้ตัวหิดตายหมด แล้วจึงค่อยนำของดังกล่าวมาใช้
โรคหิด (Scabies) คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา
ผู้แต่ง : นพ.ชินดนัย วิกรัยพัฒน์ และ พญ.ปัทมา ปาประโคน พบ.วท.ม.ตจวิทยา (ผิวหนัง)
(หมอชิน-หมอหลิว) แพทย์ผิวหนัง ประจำแอลซีคลินิก
เอกสารอ้างอิง
- www.uptodate.com
- https://www.pobpad.com/โรคหิด
- https://www.honestdocs.co/scabies
- ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน (DERMATOLOGY 2020), ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร
ฝากติดตามบทความดีๆเรื่อง วัคซีน โรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ สิว ฝ้า กระ เลเซอร์ และการผ่าตัดเล็ก ได้ที่คอลัมน์บทความนะครับ
◆ บทความที่เกี่ยวข้อง ◆
- เหา ที่ศีรษะ เส้นผม (Louse) รักษาเหา กำจัดเหา ทำยังไง
- Permethrin เพอร์เมทริน ครีม ยาทา กำจัด หิด เหา โลน คืออะไร ใช้ยังไง
- โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) คืออะไร สาเหตุ อาการ และการรักษา
- โรคตุ่มน้ำใสที่มือ ผิวหนังอักเสบ (Dyshidrosis) คืออะไร รักษายังไงดี
- โรคตุ่มพุพอง (Impetigo) แผลพุพอง คืออะไร อาการ และการรักษา
- บทความด้านโรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ
- บทความด้านความงาม สิว ฝ้า กระ เลเซอร์ โบท็อก ฟิลเลอร์ ร้อยไหม และการปรับรูปหน้า
- บทความผ่าตัดเล็ก กำจัดไฝ กระเนื้อ ติ่งเนื้อ ก้อนที่ผิวหนัง แผลเป็นนูน และวัคซีน
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
แอลซีคลินิกสาขาโคราช ตรงข้ามตลาดสวายเรียง จ.นครราชสีมา
โทร 044-263265 , 085-6566639 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic-korat
—
แอลซีคลินิกสาขาประโคนชัย ซอยบขส.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
โทร 044-163455 , 095-6026953 เปิด 09.00-19.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
Line id : lcclinic
—-
Facebook : LC Clinic
Website : www.lcclinics.com